ศปอส. แถลงปราบคดีไซเบอร์ 5 ประเภท เจาะเข้าทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ หลอกประชาชน
รอง ผบ.ตร. สรุปผลกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ประเภท แจงแต่ละคดี อาศัยความก้าวหน้า เครื่องมือ สื่อสาร ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ เข้าถึงประชาชน ใช้กลลวงสารพัด ล่อลวง หาประโยชน์
2 พ.ย.2564 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ( รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ( ศปอส.) หรือ PCT : Police Cyber Taskforce เปิดแถลง ผลระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในช่วง 20 - 31 ตุลาคม 2564 ในความผิด 5 ประเภท ประกอบด้วย 1.คดีหลอกลวงทางการเงินและการลงทุน, 2.การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า/ขายสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย, 3.คดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, 4.คดีเกี่ยวกับเพศ สื่อลามก และ 5.การพนันออนไลน์ รวมจำนวน 3,964 ราย ผู้ต้องหา 3,804 คน
โดยประเภทแรก “คดีเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเงินและการลงทุน” จำนวน 389 ราย ผู้ต้องหา 449 คน คดีที่สื่อและสังคมให้ความสนใจ เช่น คดีจับแก๊ง Call Center อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกผู้เสียหายว่ามีส่วนร่วมกับคดียาเสพติดและฟอกเงิน ถ้าไม่อยากถูกดำเนินคดีให้โอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
ทั้งนี้ คดีประเภทแรก มีผู้เสียหายหลงเชื่อหลายราย มูลค่าความเสียหายกว่า 13 ล้านบาท อีกคดี เหตุเกิดที่ ภาค 3 พฤติการณ์เหมือนกัน คืออ้างตัวเป็นตำรวจหลอกผู้เสียหาย ขณะนี้ผู้เสียหายทยอยแจ้งความ ความเสียหาย 300,000 บาท รวม 2 คดี ผู้เสียหาย 20 ราย ผู้ต้องหา 14 ราย จับได้ 10 ราย เหลือ 4 ราย อีกคดี เป็นคดี Hybrid Scam หลอกลวงผู้เสียหายผ่านแอพ Tinder และ Line โดยคนร้ายจะใช้โปรไฟล์ชาวต่างชาติหน้าตาดี มีฐานะ พูดคุยจนผู้เสียหายหลงรัก และชวนให้ลงทุนซื้อขายทองคำ เพื่อเก็งกำไร ผ่านแอปพลิเคชัน MetaTrader5 โดยอ้างว่าลงทุนต่ำ ผลตอบแทนสูง มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงิน เมื่อต้องการถอนเงินลงทุนคืนกลับถูกบ่ายเบี่ยง สูญเงินกว่า 25 ล้านบาท ผู้เสียหาย 21 ราย ออกหมายจับ 23 ราย จับกุมได้ 12 ราย เหลือ 11 ราย
ประเภทที่ 2 เป็นการจับกุม “คดีหลอกลวงจำหน่ายสินค้า/ขายสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย” จำนวน 502 ราย ผู้ต้องหา 416 คน เช่น คดีจับกุม น.ส.ชนิตกานต์ แม่ค้าหลอกขายโทรศัพท์มือถือ และสินค้าอื่นๆ โดยการโพสต์รูปโทรศัพท์ ประกาศขายในราคาถูกตามโซเชียลมีเดีย แต่กลับไม่ส่งสินค้าให้กับลูกค้า มีผู้เสียหายทั่วประเทศ 50 ราย ความเสียหายกว่า 400,000 บาท อีกราย จับกุม นายกัณปภัศ พร้อมพวก รวม 3 คน ขายอาวุธปืนผ่านเฟซบุ๊กโดยมีการนัดส่งมอบอาวุธปืนกันที่ร้านปืน ย่านบางกะปิ ยึดอาวุธปืนได้ 7 กระบอก กระสุนอีกหลายร้อยนัด
ประเภทที่ 3 จับกุมคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำนวน 753 ราย ผู้ต้องหา 605 คน อาทิ สอท. จับกุมอดีตพนักงานโรงแรม แอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่โรงแรมและใช้อีเมลชองทางโรงแรมพูดคุยและส่งอีเมลให้ลูกค้าโอนเงินค่าจองโรงแรมมาเข้าบัญชีตนเอง จากนั้นได้ส่งหลักฐานยืนยันการจองที่ปลอมขึ้นมาให้กับลูกค้า จนลูกค้าหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ต้องหาหลายครั้ง คดีนี้จับกุมผู้กระทำผิดได้ 2 คน
ประเภทที่ 4 คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ สื่อลามกทางออนไลน์ จำนวน 176 ราย ผู้ต้องหา 174 คน เช่น สอท.คดีจับกุม นายชาติพณ เจ้าของบัญชีชื่อ “เน้นจุก” ได้มีการนำภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของหญิงผู้เสียหายกว่า 1,000 ราย ไปโพสต์ในแพลตฟอร์ม VK ตรวจสอบผู้ต้องหามีคลิปในครอบครองกว่า 50,000 ไฟล์ และมีการโพสต์ในลักษณะ โฆษณาชักชวนให้มีการเล่นการพนันออนไลน์ หารายได้จากการสมัครสมาชิกของผู้เข้าชมครั้งละ 100-300 บาท โดยมีผู้ติดตามมากกว่า 59,000 ราย ซึ่งมีรายได้จากการกระทำดังกล่าวประมาณ 60,000 บาท
นอกจากนี้ ยังได้มีรายได้จากการโฆษณาเว็บไซต์เกี่ยวกับพนันออนไลน์มากกว่า 10 เว็ปไซต์ มีรายได้จากการโฆษณา 3,000 - 3,500 บาทต่อเดือน ต่อเว็ปไซต์ รวมประมาณ 50,000 ต่อเดือน
ประเภทที่ 5 จับกุมคดีการพนันออนไลน์ 1,577 ราย ผู้ต้องหา 1,663 คน คดีที่สำคัญ เช่น ตำรวจ PCT จับกุมการลักลอบจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ เล่นคาสิโนออนไลน์ สล๊อตออนไลน์ หวยออนไลน์ ภายใต้ชื่อเว็บไซต์ isc888 ผู้ต้องหา 9 ราย มีกลุ่มผู้เล่นการพนันกว่า 20,000 คน ของกลาง 650,000 บาท เงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 30 ล้านบาทต่อเดือน อีกคดีตำรวจ PCT จับกุมเครือข่ายไก่ชนใต้ .com, lucky168cockfight, luckybet ผู้ต้องหา 3 ราย มีกลุ่มผู้เล่นการพนันกว่า 1,000 ราย ยึดรถยนต์ 2 คัน โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 3 เครื่อง เป็นของกลาง เงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผบ.ตร. ได้มีนโยบายการจัดทำ “ระบบบริการรับแจ้งความ Online อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งความทางออนไลน์ ผ่านระบบเว็บไซต์ เพื่อความสะดวกแก่ประชาชน นำข้อมูลมาเชื่อมโยงแผนประทุษกรรม เพื่อจะได้พิจารณามอบหมายให้ผู้ที่เหมาะสมไปดำเนินการต่อ จะมีพนักงานสอบสวนติดต่อกลับไปพร้อมคำแนะนำว่าจะให้ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ใด โดยประชาชนผู้แจ้งจะได้รับ Password สามารถติดต่อกับพนักงานสอบสวน รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของคดีได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระบบ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน พ.ย.64 นี้ และจะพร้อมให้บริการกับประชาชนได้ โดยก่อนหน้านี้ผบ.ตร. ได้สั่งการไปยังทุกกองบัญชาการให้พนักงานสอบสวนทุกสถานีตำรวจและทุกหน่วยรับแจ้งความคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ โดยพนักงานสอบสวนจะทำการส่งต่อข้อมูลเพื่อมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีการร่วมประชุมกับภาคีเครือข่าย ทั้ง ปปง., กสทช., กระทรวงดิจิทัลฯ , สมาคมธนาคารฯ โดยเราจะมีช่องทางในการประสานงานกันอย่างรวดเร็วเพื่อส่งต่อข้อมูลให้สามารถอายัดบัญชีคนร้าย รวมทั้งส่งหลักฐานในการดำเนินคดีกับคนร้าย เพื่อให้การสืบสวนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (PCT) ให้ความสำคัญทั้งในด้านการปราบปราม และการสร้างภูมิกันให้กับประชาชนโดยการผลิตคลิป เตือนภัย โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ Facebook Page และ Youtube @PCTPOLICE และจะมีการผลิตคลิปเตือนภัยตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อรูปแบบของอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากพบพฤติการณ์ดังกล่าวสามารถโทรแจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน ตร. 1599 ตลอด 24 ชม. หรือสายตรง 081-8663000 เฉพาะเวลาราชการ หรือ www.pct.police.go.th หรือสายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 และเว็บไซต์ www.ccib.go.th