กสม. แนะ หน่วยงานรัฐ คุม "ม็อบเด็ก" อย่าให้กระทบสิทธิเสรีภาพ
กสม. ระบุ หน่วยงานเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ขานรับ ข้อเสนอแนะ คุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ทั้งเปิดเวทีรับฟัง กันพื้นที่แยกจากกลุ่มหัวรุนแรง พร้อมใช้มาตรการเหมาะสมดูแล ตั้งแต่เริ่มชุมนุม จนกระทั้งยุติ
4 พ.ย.2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 6/2564 กรณี กสม.ติดตามผล การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลังมีข้อเสนอแนะให้คุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม รายละเอียดดังนี้
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุม โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน
ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนเด็กและเยาวชน นักวิชาการ นักกิจกรรมด้านสันติวิธี นักจิตวิทยา ผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยในการระดมความคิดเห็นเรื่อง “สิทธิเด็กกับสถานการณ์การชุมนุม” เช่น กรณีสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก รวมถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ และความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ซึ่งทางกสม.ได้มีหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายสมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
ทั้งนี้เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ทางกสม.โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะฯ กับผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับข้อเสนอแนะฯ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและการคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุดที่สำนักงาน กสม.
ในการประชุมดังกล่าวนี้ กสม.ได้เน้นย้ำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม เช่น ควรจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันและเปิดพื้นที่ในการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยปราศจากความรุนแรงทั้งต่อร่างกายและจิตใจ หน่วยงานรัฐควรมีแนวปฏิบัติและวิธีการที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน โดยจัดให้มีระบบดูแลเด็กและเยาวชน ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ระหว่างชุมนุม หลังการชุมนุม และควรแยกกลุ่มผู้ชุมนุมให้ชัดเจนระหว่างผู้ก่อความรุนแรง และไม่ก่อความรุนแรง
นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลโดยคำนึงถึงมิติของเด็กและเยาวชนด้วย รวมทั้งให้ดูแล คุ้มครอง ปกป้องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งต้องมีมาตรการไม่ให้เกิดการตีตรา กลั่นแกล้ง และสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์กับผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง
ในการนี้ หน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความเห็นพ้องกับข้อเสนอแนะของ กสม.โดยให้ความสำคัญกับกลไกการเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกันนี้ยังได้หารือถึงแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในพื้นที่การชุมนุม รวมทั้งยังได้หารือถึงแนวปฏิบัติ ที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักสิทธิเด็กในกระบวนการจับกุมและดำเนินคดีต่อเยาวชนด้วย
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานพร้อมสนับสนุนและดำเนินการตามแนวทางข้อเสนอแนะดังกล่าวอย่างเต็มที่ ขณะที่ กสม.ยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็น และเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และยุติการใช้ความรุนแรงต่อกันทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องใช้แนวทางในการจัดการและควบคุมฝูงชนให้สอดคล้อง