คปภ.เปิด 3 ทางรอด ธุรกิจประกันปี 65 สู้โควิด
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19มีความรุนแรงตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564 เป็นต้นมา และเดือนส.ค. 2564 เป็นเดือนที่ผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุด ส่งผลมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงที่สุดส่งผลกระทบต่อธุรกิจประภัย
นับตั้งแต่ “ธุรกิจประกันภัย” เริ่มขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เดือนมี.ค.2563- 15 ต.ค.2564 มีจำนวนกรมธรรม์สะสม 44.55 ล้านกรมธรรม์ มีเบี้ยประกันรวมทั้งสิ้น 10,760 ล้านบาท และมีค่าสินไหมทดแทนรวม 21,075.60 ล้านบาท เฉลี่ยความคุ้มครองกรมธรรม์ละ 70,000 บาท อัตราการเคลมต่อจำนวนผู้ติดเชื้อราว13%และยังคงมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับราว 15 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งจะสิ้นผลบังคับช่วงเดือนมิ.ย.2565
ขณะที่ในด้านกำลังซื้อของประชาชนน้อยลงในปีนี้ "ประกันวินาศภัย” ได้รับผลกระทบเบี้ยประกันลดลงมากกว่า “ประกันชีวิต” ตามมาด้วย โดยมี 1 บริษัทปิดกิจการ คือ “เอเชียประกันภัย” และ อีก 3 บริษัท "สินมั่นคงประกันภัย-ไทยประกันภัย-เดอะวันประกันภัย” สะดุดเคลมสินไหมประกันโควิด-19 ณ 4 พ.ย.2564 มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 9,327 ราย จนต้องเข้ามาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเร่งจ่ายสินไหมยุติแล้ว 5,831 ราย คิดเป็น 62.52%
ในปี 2565 บริษัทประกันจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไรนั้น “นายสุทธิพล ทวีชัยการ”เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า คปภ.ประเมินสถานการณ์ช่วงหลังเดือน ส.ค.2564 - มิ.ย.2565 หากมีอัตราการติดเชื้อยังควบคุมได้ จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง มีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น อัตราการเคลมต่อจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่าปัจจุบันคาด “ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยมีแนวโน้มไม่รุนแรงมาก”
ขณะที่ หลังเปิดประเทศในเดือน พ.ย.นี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวและโควิด-19ไม่กลับมาระบาดระลอกใหม่ เชื่อมั่นว่า สถานการณ์ธุุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะประกันวินาศภัยที่รับประกันโควิด-19น่าจะดีขึ้นตามลำดับ และทั้งระบบมีโอกาสฟื้นตัว ในปี 2565
คปภ. คาดการณ์อุตสาหรรมประกันภัยปี 2565 กรณีจีดีพี ขยายตัว 3.7%-3.9% เบี้ยประกันภัยทั้งระบบ ขยายตัว 3.17-5.69% มีมูลค่า 9-9.13แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 คาดจีดีพี ขยายตัว 1% ถึง หดตัว 0.4% เบี้ยประกันภัยทั้งระบบ ขยายตัว 1.29% -3.49% มีมูลค่า 8.7 แสนล้านบาท และปี 2563 จีดีพีหดตัว 6.1% เบี้ยประกันภัยทั้งระบบ หดตัว 0.26% มีมูลค่า 8.52 แสนล้านบาท
“นายสุทธิพล” กล่าวว่า ปีหน้าแนวโน้มการเรียกร้องค่าสินไหม ‘โควิดเจอจ่ายจบ' ยังคงสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อฐานะการเงินของบริษัทประกันและอาจส่งผลต่อการรับประกันภัยสุขภาพด้วย เพราะการฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพียงลดความรุนแรงหากได้รับเชื้อ เป็นจุดที่บริษัทประกันต้องระวัง
แต่หาก ประกันวินาศภัย" กระจายรับประกันภัยอื่นๆ เช่น ประกันภัยรถยนต์ อาจรับผลเชิงบวกจากการใช้รถมีปริมาณลดลง รวมถึงปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อาจช่วยให้พยุงผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยได้บางส่วน
ดังนั้นเพื่ออยู่รอดได้ในปีหน้า บริษัทประกันภัยต้องปรับกลยุทธ์ ดังนี้ 1.ปรับตัวรองรับวิถีชีวิตใหม่ (New normal)ของคนไทย 2.บริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้นและ 3.หาโอกาสสร้างสรรค์ประกันภัยใหม่ๆ ตอบโจทย์ผลกระทบโควิด-19 ดอกเบี้ยต่ำและการเข้าสู่สังคมดิจิทัล
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแก้ปัญหาระยะยาว คือ ภาครัฐนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนได้มากพอ และ เป็นวัคซีนรองรับสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเร็วที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อความไม่ประมาท “คปภ.” จะพิจารณาถึงแนวโน้มในอนาคต ประกอบการพิจารณาการปรับปรุงการกำกับดูแลและพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้เอาประกันทุกคน