"แม่คะนิ้ง" โผล่ 2 วันติดที่ดอยอินทนนท์ ต้องรู้! แม่คะนิ้งไม่ใช่น้ำค้างแข็ง

"แม่คะนิ้ง" โผล่ 2 วันติดที่ดอยอินทนนท์ ต้องรู้! แม่คะนิ้งไม่ใช่น้ำค้างแข็ง

เช้าวันนี้ (22 พ.ย.) มีรายงานพบ "แม่คะนิ้ง" หรือเหมยขาบบนยอดดอยอินทนนท์ โดยวัดอุณหภูมิยอดหญ้าได้ที่ 4 องศาฯ สร้างความตื่นเต้นให้นักท่องเที่ยวอย่างมาก แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าแม่คะนิ้งไม่ใช่ "น้ำค้างแข็ง" แล้วสองสิ่งนี้แตกต่างกันอย่างไร?

วันนี้ (22 พ.ย.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ รายงานผ่านเพจ "อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์" ระบุว่า เช้านี้หนาวสุด 4 องศาเซลเซียส พร้อมเผยภาพ "แม่คะนิ้ง" ชุดแรกของปี 2564 ที่มีให้เห็นมากขึ้น (เริ่มพบตั้งแต่ 21 พ.ย. แต่พบน้อยกว่าวันนี้) 

มีรายงานข่าวด้วยว่า เช้านี้ยอดดอยอินทนนท์และบริเวณกิ่วแม่ปาน อุณหภูมิลดลงเหลือ 4 องศาฯ ทั้งสองจุด โดยนับว่าเป็นอุณหภูมิที่ต่ำสุดครั้งแรกของหน้าหนาวปี 2564 ขณะที่บริเวณที่ทำการอุทยานวัดอุณหภูมิได้ที่ 12 องศาฯ

ด้วยอุณหภูมิที่ลดลงดังกล่าว จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์เหมยขาบ หรือ "แม่คะนิ้ง" ณ บริเวณ กม.ที่ 45  และบริเวณยอดดอยอินทนนท์ โดยรวมสภาพอากาศเปิด ท้องฟ้าแจ่มใส มีทะเลหมอกหนาสวยงามในช่วงเช้า อีกทั้งพบว่าวันนี้มีนักท่องเที่ยว​ขึ้นไปเที่ยวชมบนยอดดอยอินทนนท์​ประมาณ 2,000 กว่าคน

เชื่อว่าปรากฏการณ์ "แม่คะนิ้ง" ของปีนี้ ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวอยากออกเดินทางไปเที่ยวชมความสวยงามทางภาคเหนือของไทยมากขึ้น แต่หลายคนอาจจะยังสับสนและเรียกผิดๆ ถูกๆ ระหว่าง แม่คะนิ้ง เหมยขาบ และน้ำค้างแข็ง แบบไหนคือคำเรียกที่ถูกต้อง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

\"แม่คะนิ้ง\" โผล่ 2 วันติดที่ดอยอินทนนท์ ต้องรู้! แม่คะนิ้งไม่ใช่น้ำค้างแข็ง

 

มีข้อมูลจาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และเพจ วิทย์สนุกรอบตัว อธิบายความแตกต่างของลักษณะการเกิด "แม่คะนิ้ง" (เหมยขาบ) และ "น้ำค้างแข็ง" เอาไว้ดังนี้

1. แม่คะนิ้งและน้ำค้างแข็ง เกิดจากไอน้ำเหมือนกัน 

จุดกำเนิดเริ่มต้นของแม่คะนิ้งและน้ำค้างแข็งนั้น เกิดจากสารตั้งต้นเหมือนกันนั่นคือ "ไอน้ำ" ที่ลอยอยู่ในอากาศในสถานะก๊าซ และจะเปลี่ยนรูปไปเป็นของแข็ง (เกล็ดน้ำแข็ง/หยดน้ำค้างแข็ง) เมื่อเจออุณหภูมิที่ลดลงต่ำมากอย่างรวดเร็ว แต่ขั้นตอนของการเปลี่ยนรูปนี้เองที่มีลักษณะแตกต่างกัน

  • แม่คะนิ้งเกิดจากไอน้ำ (ก๊าซ) ที่เปลี่ยนไปเป็นเกล็ดน้ำแข็ง (ของแข็ง) โดยตรง
  • น้ำค้างแข็งเกิดจากไอน้ำ (ก๊าซ) เปลี่ยนไปเป็นน้ำ (ของเหลว) ก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนจากน้ำไปเป็นหยดน้ำค้างแข็ง (ของแข็ง) อีกที

 

 

2. แม่คะนิ้งมักเกิดขึ้นที่ไหน? อุณหภูมิเท่าไร?

แม่คะนิ้งพบได้ในหุบเขา หรือยอดเขาสูงที่มีอุณหภูมิประมาณ 0 องศาเซลเซียส หรือติดลบเล็กน้อย มักเกิดขึ้นที่บริเวณยอดหญ้า มีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งเกาะขาวโพลนเต็มใบหญ้า มักเกิดขึ้นในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคมของทุกปี

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยที่พบ "แม่คะนิ้ง" ได้เป็นประจำทุกปีก็คือ "ยอดดอยอินทนนท์" เนื่องจากเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในไทย

เมื่อถึงฤดูหนาวบริเวณยอดดอยในช่วงกลางคืนมักจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาฯ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เหมาะสมทำให้เกิดแม่คะนิ้ง นอกจากนี้แม่คะนิ้งยังสามารถพบได้ที่ดอยอ่างขาง ภูกระดึง และยอดเขาสูงอีกหลายแห่งในประเทศไทย 

3. ขั้นตอนการเกิด "แม่คะนิ้ง" vs "น้ำค้างแข็ง"

หากอธิบายให้ละเอียดมากขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้มีขั้นตอนการเกิดขึ้นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนี้

2.1) แม่คะนิ้งหรือเหมยขาบ : เกิดขึ้นเมื่ออากาศมีความชื้นมาก ทำให้มีไอน้ำในอากาศมากตามไปด้วย จากนั้นเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงกว่าจุดเยือกแข็ง (freezing point) จะทำให้ไอน้ำที่อยู่ในสถานะก๊าซเปลี่ยนเป็นผลึกน้ำแข็งหรือเกล็ดน้ำแข็งโดยตรง จนทำให้เกิด “แม่คะนิ้ง” ที่เป็นผลึกน้ำแข็งเกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้า

2.2) น้ำค้างแข็ง : เกิดขึ้นเมื่อเกิดขึ้นเมื่ออากาศมีความชื้นมาก ทำให้มีไอน้ำในอากาศมากตามไปด้วย เมื่ออุณหภูมิดลดต่ำลงกว่าจุดน้ำค้าง (dew point) ไอน้ำกลั่นตัวเป็นน้ำค้าง (ของเหลว) เกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้า

ต่อมาเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงกว่าจุดเยือกแข็ง (freezing point) จะทำให้น้ำค้างที่อยู่ในสถานะของเหลวดังกล่าว เปลี่ยนเป็นผลึกน้ำแข็งจนทำให้เกิด “น้ำค้างแข็ง” ที่เป็นผลึกน้ำแข็งเกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้า

4. หน้าตาอาจคล้ายกัน แต่ต่างกันในรายละเอียด

ส่วนในเรื่องหน้าตาของ "แม่คะนิ้ง'" และ "น้ำค้างแข็ง" ก็มีความต่างกันเล็กน้อย หากมองผิวเผินจะดูเหมือนกัน คือ เป็นลักษณะที่มีน้ำแข็งเกาะอยู่ตามยอดหญ้าและยอดใบไม้ตามพื้น

แต่ถ้าใช้กล้องที่มีระยะซูมใกล้มากๆ เป็นพิเศษ จะมองเห็นได้ชัดเจนเลยว่า แม่คะนิ้งจะมีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งที่ละเอียดเกาะกระจายตัวไปทั่วใบไม้ใบหญ้า ต่างจากน้ำค้างแข็งจะมีลักษณะเป็นก้อนหยดน้ำแข็ง เกาะอยู่เป็นจุดๆ เสียมากกว่า 

\"แม่คะนิ้ง\" โผล่ 2 วันติดที่ดอยอินทนนท์ ต้องรู้! แม่คะนิ้งไม่ใช่น้ำค้างแข็ง

-------------------------------------

อ้างอิง : สสวท., วิทย์สนุกรอบตัว, neawna, thaipost, faceticket