ครม.ไฟเขียวแผนระยะ 4 ปิดทองหลังพระฯหลังสร้างรายได้ ประชาชนแล้ว 4.6 พันล้าน
ครม.เห็นชอบสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 4 ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานระยะ 1-3 สร้างรายได้ให้ประชาชน 4,683 ล้านบาท พัฒนาน้ำเพื่อการเกษตร 514,420 ไร่ พื้นที่ป่าเพิ่ม 106,580 ไร่
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 4 (ปี 2566-2570) ของ มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริและสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 1-3 (ปี 2554-2564)
สำหรับงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการนั้น จะใช้เงินงบประมาณของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯปี 2566-2570 กรอบวงเงิน 590 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566-2570 ในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป โดยตั้งไว้ที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาที่ 3 กรอบวงเงิน 200 ล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแนวทางการพัฒนาที่ 4 กรอบวงเงิน 66 ล้านบาท รวม 266 ล้านบาท
ทั้งนี้แผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระยะที่ 4 มีเป้าหมายเพื่อขยายผลแบบแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดการดำเนินการในพื้นที่อื่นอย่างกว้างขวาง ภายใต้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจสังคมระดับฐานราก มีตัวชี้วัดคือ มีการขยายผลแบบแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ไปดำเนินการในพื้นที่อื่น อย่างน้อย 5 พื้นที่
มีการขยายผลการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีปัญหาแล้งซ้ำซาก 625 โครงการ, มีหมู่บ้านในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ยาเสพติด 8 หมู่บ้าน และมีการประกอบสัมมาชีพพึ่งพาตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ในการป้องกันและเฝ้าระวังยาเสพติด, เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่โครงการเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)ไม่น้อยกว่า 27 เครือข่าย และมีระบบข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การวิเคราะห์ตัดสินใจของผู้บริหารทันต่อการแก้ไขปัญหา
ส่วนผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯระยะที่ 1-3 นั้น สามารถขับเคลื่อนพันธกิจให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในด้านเศรษฐกิจ มีผลดำเนินการ พัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร 514,420 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 148,886 ครัวเรือน ก่อให้เกิดรายได้ต่อประชาชน 4,6831 ล้านบาท
ด้านสังคมและวัฒนธรรม สามารถพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 9 จังหวัด และขยายผลการพัฒนาไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการโดยชุมชนในลักษณะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ 85 กลุ่ม มีแผนพัฒนาหมู่บ้านที่มีคุณภาพในหมู่บ้านที่มีสถานการณ์ยาเสพติดพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ 52 หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้จากโครงการทุเรียนคุณภาพ
ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 106,580 ไร่ ด้วยการลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และลดการเกิดไฟป่าในพื้นที่จังหวัดน่านได้ร้อยละ 99 ดำเนินการอนุรักษ์ป่าด้วยการสร้างฝายอนุรักษ์ในพื้นที่ต่างๆ 6,694 แห่ง
พร้อมกับพัฒนาฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศและแผนที่ภาพถ่ายความละเอียดสูงโดยอากาศยานไร้คนขับที่จังหวัดอุทัยธานี ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพ และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมอบใบรับรองสิทธิ์ทำกินพื้นที่ 13,044 ไร่ ส่วนด้านองค์ความรู้ มีการสร้างหลักสูตร 11 หลักสูตร และครูภูมิปัญญา 115 คน รวมทั้งสามารถฝึกอบรมด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้ผู้นำชุมชน นักศึกษา บุคลากรภาครัฐ 17,467 คน และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา