เปิดแผนลงทุนแหลมฉบังเฟส3 กัลฟ์-ปตท.ลุยโรดโชว์หาลูกค้า
“จีพีซี”ลุยท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ตอกเสาเข็มปี 2566 คาดโกยรายได้ปีละ 4-8 พันล้าน คืนทุนหลังปีที่ 10 เผยหารือพอร์ตต่างชาติร่วมโอเปอร์เรต เตรียมแผนโรดโชว์หาลูกค้า มั่นใจดันไทยเป็นฮับนำเข้า-ส่งออกในภูมิภาค กทท.ลุยพัฒนาทางรถไฟ
การพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนท่าเทียบเรือ F เดินหน้าอีกขั้นเมื่อมีการลงนามสัญญาร่วมลงทุน วานนี้ (25 พ.ย.) ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (จีพีซี) ที่ชนะการประมูลและเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 40% บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) 30% และบริษัท เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด 30% มีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จีพีซีมั่นใจถึงศักยภาพของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ขนส่งสินค้า และจะเป็นท่าเรือที่มีจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยจะเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างในปี 2566
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F แบ่งการลงทุนออกภาครัฐ 13,000 ล้านบาท และภาคเอกชน 32,000 ล้านบาท จีพีซีได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ 700 ไร่ โดยวงเงินลงทุนภาคเอกชนจะใช้เงินกู้ 60-70% หรือ 21,000 ล้านบาท และใช้เงินทุนของบริษัทร่วมทุน 30% หรือ 8,000-9,000 ล้านบาท
ส่วนการรับรู้รายได้นั้น หลังลงนามสัญญาจะไม่สามารถลงพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างทันที เพราะต้องรอ กทท.ถมทะเลและวางโครงสร้างพื้นฐานจึงประเมินว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดบริการปี 2568 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มรับรู้รายได้ โดยช่วงแรกจะเปิดบริการเฉพาะท่าเทียบเรือ F1 และคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 4,000 ล้านบาท หลังจากนั้นหากเปิดท่าเทียบเรือ F2 ในปี 2572 จะเพิ่มรายได้เป็นปีละ 8,000 ล้านบาท
“การลงทุนของจีพีซีที่ใช้เงินบริษัทจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยกัลฟ์จะลงทุน 40% ดังนั้นจะบันทึกรายได้เข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 40% เช่นเดียวกัน ส่วนการคืนทุนมองว่าเป็นการคืนทุนระยะยาว น่าจะคืนทุนได้ภายใน 10 ปี จากระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี แต่จะทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรกที่เปิดบริการ”
หาพันธมิตรต่างชาติร่วมบริหาร
นายรัฐพล กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ กทท.ถมทะเลนั้น จะเตรียมแบบก่อสร้าง แผนการตลาด การโรดโชว์หาลูกค้ามาใช้บริการท่าเรือ ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการเจรจาหาผู้มีประสบการณ์มาบริหารท่าเรือ ซึ่งอาจต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพราะเป็นท่าเรือใหญ่รองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สุดในโลกได้ ดังนั้นต้องหาผู้มีประสบการณ์รองรับเรือขนส่งประเภทนี้
นอกจากนี้ จีพีซี มีเป้าหมายผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนท่าเทียบเรือ F เป็นท่าเทียบเรือของภูมิภาค รองรับความต้องการแต่ละประเทศที่จะส่งออกหรือนำเข้าสินค้า ใช้ท่าเรือแหลมฉบังส่วนนี้เป็นประตูการขนส่งสินค้าเชื่อมภูมิภาคและโลก ซึ่งแตกต่างจากท่าเรือสิงคโปร์ที่เป็นเสมือนท่าเทียบเรือเพื่อกระจายสินค้าไปประเทศต่างๆ ดังนั้นเป้าหมายตลาดที่วางไว้ คือ กลุ่มลูกค้าสายเดินเรือเพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ เป้าหมายการผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือของเอเชีย ซึ่งกลุ่มจีพีซีมั่นใจว่านอกจากจุดแข็งยุทธศาสตร์ที่ตั้ง และการรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่พบว่าการพัฒนาท่าเรือด้วยระบบอัตโนมัติและบริหารจัดการได้ 24 ชั่วโมง เป็นอีกจุดแข็งให้ลูกค้ามาใช้บริการ โดยจะพัฒนาระบบรางมารองรับการขนถ่ายสินค้าที่ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้วย
“ผลตอบแทนที่เรามองจากการลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง เชื่อว่าการพัฒนาท่าเรือลึก 18 เมตร รองรับการขนส่งเรือแม่ที่ใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นเราจะถูกเลือกใช้บริการก่อน เพราะการรองรับตู้สินค้าได้เยอะในการขนส่งครั้งเดียวผ่านเรือใหญ่จะประหยัดต้นทุนมาก”
กทท.พัฒนารถไฟหนุนท่าเรือ
เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ กทท.สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเทียบเรือ F แบ่งเป็น 2 เฟส โดยคาดว่าเริ่มก่อสร้างท่าเรือ F1 (เฟสแรก) ปี 2566 และเปิดปี 2568 รองรับขนส่งได้ 2 ล้านทีอียูต่อปี
ส่วนท่าเทียบเรือ F2 (เฟส 2) จะเสร็จปี 2572 รองรับปริมาณการขนส่งได้ 2 ล้านทีอียูต่อปี ดังนั้นเมื่อท่าเทียบเรือทั้ง 2 เฟส สร้างเสร็จ จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังรองรับความจุตู้สินค้าเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี รองรับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยกระดับไทยสู่การเป็นท่าเรือระดับโลก
ทั้งนี้ กทท.มีแผนลงทุนพัฒนาระบบรางเพื่อขนถ่ายสินค้าจากหลังท่าเทียบเรือโซน F ส่งต่อมายังเส้นทางรถไฟสายอื่นในประเทศ และเชื่อมลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ โดยมีวงเงินลงทุนระบบรางอยู่ที่ 700 ล้านบาท พัฒนาทางรถไฟความยาว 5 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการพร้อมกับท่าเรือแหลมฉบัง 3 ในปี 2567-2568 เพิ่มขีดความสามารถขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มอีก 4 ล้านตู้ จากปัจจุบัน 2 ล้านตู้ ซึ่งทำให้สัดส่วนการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางในท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มเป็น 30% จากปัจจุบัน 7% ของการขนถ่ายตู้สินค้าทั้งหมด