เมอร์คเผยผลวิจัยยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงน้อยกว่าที่ประกาศไว้

เมอร์คเผยผลวิจัยยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงน้อยกว่าที่ประกาศไว้

เมอร์ค อัพเดตข้อมูลจากการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ซึ่งพัฒนาร่วมกับบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ โดยพบว่า ยาตัวนี้ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้น้อยกว่าที่เคยประกาศไว้ในผลการทดลองเบื้องต้น

เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เมอร์คเปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%

ผลการทดลองเบื้องต้นเมื่อเดือนที่แล้วพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนเพียง 7.3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 14.1% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย

สำหรับข้อมูลอัปเดตวันนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 6.8% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 1 คน เมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอกซึ่งมีผู้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 9.7%

เมื่อคำนวณแล้วเท่ากับว่ายาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงได้น้อยกว่าที่เคยรายงานไว้ในผลการทดลองเบื้องต้น โดยลดความเสี่ยงได้ประมาณ 30%

ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา

เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไป จึงทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเล็งเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อไวรัสโควิด-19 ในการคัดลอกตัวเองเพื่อแพร่กระจายออกไป โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนมากขึ้น

ผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกของการติดเชื้อ