เปิดกระเป๋ารัฐบาล งบฯสู้ โอมิครอน 3.8 แสนล้าน ‘คลัง’ เปิดช่องกู้เพิ่ม
เปิดวงเงินรับมือ โอมิครอน จากงบเงินกู้-งบกลาง 3.88 แสนล้านบาท “คลัง” ชี้รัฐบาลมีช่องกู้เพิ่ม หลังขยายเพดานก่อหนี้เป็น 70% ของจีดีพี สศช.เร่งหน่วยงานเบิกจ่ายเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจ “หอการค้า” เชื่อรัฐบาลรับมือสายพันธุ์ใหม่ได้ กกร.นัด 8 ธ.ค.ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนสูงทำให้รัฐบาลต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องเงินทั้งจากงบประมาณและจากเงินกู้เพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มระบาดไปในหลายประเทศ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา รวม 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท รวมทั้งมีการจัดทำงบกลางเพื่อใช้จ่ายสำหรับโควิด-19 โดยเฉพาะในปี 2564 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 วงเงินประมาณ 1.63 หมื่นล้านบาทเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมวงเงินที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ในการรับมือโควิดกลายพันธุ์หากมีการแพร่ระบาดในไทยพบว่ามีแหล่งเงินรองรับ 4 ส่วน วงเงินรวมประมาณ 3.88 แสนล้านบาท ได้แก่
1.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ.2564 (เพิ่มเติม) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีการอนุมัติโครงการไปแล้ว 23 โครงการวงเงินอนุมัติประมาณ 2.3 แสนล้านบาท คงเหลือวงเงินตาม พ.ร.ก.ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท
2.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท มีการอนุมัติโครงการไปแล้วเป็นวงเงินประมาณ 9.88 แสนล้านบาท คงเหลือวงเงินที่ยังไม่ได้อนุมัติโครงการอีก 1.2 หมื่นล้านบาท
3.งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 8.9 หมื่นล้านบาท
4.งบกลางค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงินประมาณ 1.63 หมื่นล้านบาท ซึ่งวงเงินในส่วนนี้ ครม.ได้มีการอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ในโครงการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1,300 ล้านบาท ทำให้วงเงินในส่วนนี้เหลืออยู่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
“คลัง”ชี้รัฐบาลมีช่องกู้เงินเพิ่ม
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยความคืบหน้าการใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการดูแลเศรษฐกิจและโควิด-19 ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินการใช้จ่ายไว้ที่ 2.73 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 1.64 แสนล้านบาท ฉะนั้น ยังเหลือวงเงินที่รอการอนุมัติจาก ครม.อีกประมาณ 2.26 แสนล้านบาท
สำหรับกรณีการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน กระทรวงการคลังจะเตรียมวงเงินไว้รองรับอย่างไร นางแพตริเซีย กล่าวว่า ขณะนี้ สบน.ยังไม่ได้รับมอบนโยบายให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวและอาจจะเร็วไปที่จะพูดเรื่องนี้ เนื่องจาก ขณะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่เกิดการแพร่ระบาดมาในประเทศและยังไม่ทราบว่าหากเกิดการแพร่ระบาดในไทยแล้วจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ดี ในแง่เม็ดเงินรองรับการดำเนินนโยบายการคลังนั้น ขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ได้มีมติขยายกรอบเพดานการก่อหนี้เพิ่มเป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี จากเดิมไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะล่าสุดในเดือน ต.ค.2564 อยู่ที่ 58.76% ต่อจีดีพี ดังนั้น รัฐบาลจึงมีรูมในการกู้เงินเพื่อมาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม
สศช.เร่งเบิกจ่ายงบเงินกู้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณ ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ที่ ครม.อนุมัติ เป็นไปตามแผน โดยมีบางโครงการที่มีการล่าช้าและขอปรับรายละเอียดระยะเวลาการดำเนินโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อจำกัดจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้มีการเสนอรายละเอียดมาให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา และเสนอให้ ครม.เห็นชอบปรับปรุงรายละเอียด รวมทั้งขยายระยะเวลาเป็นรายโครงการแล้ว
“การเบิกจ่ายเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ได้มีเป้าหมายในการเบิกจ่ายแต่ละแผนงาน โดยในภาพรวมจะต้องมีการติดตามการเบิกจ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ของวงเงินกู้เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19”
ทั้งนี้ สศช.ได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน และการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนหรือโรงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ให้ ครม.รับทราบ โดยในช่วง 3 เดือน (ก.ค.-ต.ค.) ครม.มีการอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 23 โครงการ กรอบวงเงินรวม 237,681 ล้านบาท คิดเป็น 47.54 % ของกรอบวงเงินกู้ทั้งหมด
“คลัง”ยื่นกู้ไปแล้ว28.3%
ในส่วนของการดำเนินงานของ สบน.ได้ดำเนินการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม ไปแล้วทั้งสิ้น 144,166 ล้านบาท คิดเป็น 28.38% ของกรอบเงินกู้ทั้งหมด 5 แสนล้านบาท
สำหรับผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 31 ต.ค.2564 มีการเบิกจ่ายเงินแล้วทั้งสิ้น 129,497 ล้านบาท คิดเป็น 54.48% ของวงเงินอนุมัติ หรือคิดเป็น 92.15 % ของแผนการเบิกจ่านเงินตามบัญชีแนบท้าย แบ่งเป็นการเบิกจ่ายตามแผนงาน ได้แก่
1.แผนงานกลุ่มที่ 1 ด้านสาธารณสุข และการรักษาพยาบาลประชาชนวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ครม.อนุมัติ 3 โครงการคิดเป็นวงเงินที่อนุมัติ 18,372.04 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 10,734 ล้านบาท คิดเป็น 80.04% ของแผนการเบิกจ่าย
2.แผนงานกลุ่มที่ 2 การเยียวยาประชาชนจากเดิมวงเงิน 2.8 แสนล้านบาท โดยครม.อนุมัติ 17 โครงการ วงเงินรวม 136,787.99 ล้านบาทมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 118,762.86 ล้านบาท คิดเป็น 93.42% ของแผนการเบิกจ่าย
สำหรับแผนที่งานกลุ่มที่ 3 วงเงินสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ซึ่ง ครม.มีการอนุมัติวงเงินให้แล้ว 3 โครงการ วงเงิน 82,521.69 ล้านบาท ยังไม่มีการเบิกจ่ายในระหว่างเดือน ก.ค.-ต.ค.เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีแผนการเบิกจ่ายในเดือน พ.ย.2564 ซึ่งจะรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป
ขยายเวลางบซื้อซิโนแวค
นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ ที่เสนอให้ขยายเวลาให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการจัดหาวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จำนวน 12 ล้านโดส ตามที่ ครม.ได้มีการอนุมัติโครงการไปก่อนหน้านี้ โดยขยายระยะเวลาออกไปจากเดิมที่สิ้นสุดโครงการในเดือน ต.ค.2564 เป็นสิ้นสุดโครงการในเดือน ธ.ค.2564 เนื่องจากติดขัดปัญหาการส่งมอบวัคซีนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเร่งรัดการดำเนินโรงการจัดหาวัคซีนซิโนแวคให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่ขยายให้อย่างเคร่งครัดด้วย
มั่นใจรัฐบาลรับมือได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับเงินสู้โควิดที่รัฐบาลมีเหลือ 3.88 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลได้เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะไว้แล้วจะทำให้รัฐบาลกู้เพิ่มได้ ซึ่งต้องมาดูว่าสถานการณ์การระบาดครั้งใหม่นี้จะเป็นอย่างไร จึงมาพิจารณาในประเด็นนี้อีกครั้ง แต่วงเงินที่เหลืออยู่ควรจะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ประกอบการและป้องกันการระบาด ซึ่งขณะนี้ขอดูสถานการณ์เพิ่มเติมก่อน
ส่วนโควิด -19 สายพันธุ์ใหม่ ยังต้องรอความเห็นของทางการแพทย์ว่าวัคซีนที่ปัจจุบันใช้กันอยู่นั้นสามารถรับมือได้มากขนาดไหน ซึ่งขอให้ทุกภาคส่วนอย่าตื่นตระหนกและการ์ดก็อย่าตก ตอนนี้ความสามารถทางสาธารณสุขของประเทศไทยนั้นเชื่อว่าสามารถรับมือได้ อีกทั้งทางรัฐบาลก็ได้มีประกาศเพิ่มเติม มีมาตรการสกัดกั้นคนที่เดินทางมาจากพื้นที่แพร่ระบาดแล้วด้วย
การระบาดของโควิด -19 นี้ ยังน่าจะมีต่อไป โดยประเทศไทยนั้นเราผ่านการระบาดระลอกใหญ่มา 3-4 รอบแล้ว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ประชาชน รู้ถึงความเสียหายหากเกิดการล๊อคดาวน์ขึ้นมา ทั้งความเสียหายทางสาธารณสุข และ ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงอยากให้ ทุกภาคส่วนช่วยให้ความร่วมมือปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปีหน้าไม่เกิดการล๊อคดาวน์
กกร.นัดถกผลกระทบ8ธ.ค.
นายสนั่น กล่าว มุมมองทางเศรษฐกิจ ในปีนี้ที่เหลืออีก 1 เดือน ก็คงสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยประเมินกันไว้ เชื่อว่าการระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ 1 เดือนที่เหลือนี้ทันที แต่สำหรับปี 2565 ก็ยังขอให้มีข้อมูลการระบาดและผลกระทบเพิ่มเติมมาก่อน โดยในวันที่ 8 ธ.ค.2564 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย จะมีการประชุมหารือกัน
อย่างไรก็ตามยังเห็นว่าปี 2564 การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกินกว่า 1% ในขณะที่การส่งออกก็น่าจะยืนได้ที่ 15% แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องค่าระวางเรือ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็ตาม ซึ่งจะมีการหารือกับ กระทรวงพาณิชย์ ในการประชุม กรอ.พาณิชย์ที่จะจัดขึ้นภายในเดือน ธ.ค.นี้เพื่อตั้งเป้าหมายร่วมกันในปี 2565
ส่วนประเด็นแรงงานต่างด้าว เห็นว่า จะต้องเร่งการขึ้นทะเบียน เพื่อให้มีการคุย MOU การจัดหาแรงงานให้ภาคธุรกิจต่างๆ ส่วนนี้ ทางหอการค้าไทยก็ได้มีการคุยกับ กระทรวงแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ เกิดการขึ้นทะเบียนแรงงาน จะได้มีการจัดสรรวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาด เพราะในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอมากขึ้น ซึ่ง ในระหว่างนี้ ต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รีบมาฉีด เพราะอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด -19 นั้นมาจากคนที่ไม่ได้รับวัคซีนทั้งนั้น
สรท.ประเมินระยะสั้นโอไมครอนไม่กระทบส่งออกไทย เผยคำสั่งซื้อสินค้ามีมาต่อเนื่อง มั่นใจส่งออกไทยปีนี้โต 12-14 % จี้รัฐคุมเข้มป้องกันระบาดเข้าไทย
“โอมิครอน”ยังไม่กระทบส่งออก
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน" ที่เริ่มระบาดในยุโรป โดยในระยะสั้นยังไม่กระทบต่อการส่งออกไทยไปประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งมั่นใจการส่งออกปี 2564 จะขยายตัว 12-13% ส่วนจะถึง 15-16% คงต้องดูปัจจัยอื่นมาเสริม โดยเฉพาะปัญหาการขนส่งทางทะเลและค่าระวางเรือที่สูง
ส่วนไตรมาส 1 ปี 2565 ยังมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ซึ่งแสดงว่าโอไมครอนยังไม่กระทบต่อการส่งออก แต่ในระยะยาวคงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอไมครอน โดยเฉพาะวัคซีนว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ และแตกต่างกับสายพันธุ์เดลต้าที่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
“หากชัดเจนว่าป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ก็ไม่มีปัญหา แต่หากป้องกันไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อภาคการส่งออก”
นายชัยชาญ กล่าวว่า สถานการณ์น่าจะไม่เลวร้ายถึงขั้นใช้มาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งเห็นว่าโอกาสน่าจะเกิดได้น้อยเพราะทุกประเทศมีมาตรการดูแลเข้ม และไม่เหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และสิ่งสำคัญขณะนี้คือการป้องกันไม่ให้สายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาในประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดไม่ให้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศได้ รวมทั้งให้ความรู้ ข้อเท็จจริงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโอไมครอน และการป้องกันตนเองทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ทั้งนี้จะต้องไม่ประมาท