"คณะทำงานวิปรัฐบาล" ตกลง ใช้สูตรคำนวณ "ส.ส.บัญชีรายชื่อ" ปัดเศษพรรคเล็ก

"คณะทำงานวิปรัฐบาล" ตกลง ใช้สูตรคำนวณ "ส.ส.บัญชีรายชื่อ" ปัดเศษพรรคเล็ก

คณะทำงานยกร่างกฎหมายลูกของวิปรัฐบาล ได้ข้อสรุป 5ประเด็นร่วมกัน ตกลงใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ คิดเศษคะแนนจากพรรคเล็ก - ยังมีปมใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ ที่ยังเห็นแย้ง

           นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ( วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานวิปรัฐบาล เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้งว่า  จากกรณีที่กลุ่มพรรคเล็กร่วมรัฐบาล ได้เสนอความเห็นและประเด็นที่ต้องการให้บัญญัติไว้ในร่างพ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่วิปรัฐบาลจะเสนอต่อประธานรัฐสภา ล่าสุดมีความเห็นที่เป็นข้อยุติร่วมกันแล้ว คือ 1.ประเด็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะกำหนดวิธีคิดคำนวณ ที่มีหลักการว่า ให้ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนค่ำกว่าคะแนนหารเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนมีสิทธิ์ได้ส.ส. โดยมีเงื่อนไขคือ จะใช้ในกรณีที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ครบ 100 คน โดยให้ใช้คะแนนของพรรคเรียงลำดับตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ เพราะเศษคะแนนของพรรคที่ได้ไม่ถึงคะแนนเฉลี่ย เมื่อรวมคะแนนที่ประชาชนเลือกควรได้ส.ส. ด้วย

           นายโกวิทย์ กล่าวด้วยว่า 2. สิทธิส่งผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ  ต้องเกิดขึ้นหลังจากที่ส่ง ส.ส.เขตแล้ว ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดจำนวนเขตที่ให้ส่งผู้สมัครส.ส.ไว้ ดังนั้นจึงหมายความว่า ส่ง ส.ส. 1 เขต สามารถส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้, 3. การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. หรือ ไพรมารี่โหวต จะยังคงใช้หลักการการคัดสรรเบื้องต้น แต่ได้ปรับเกณฑ์การสรรหาโดยให้สิทธิตัวแทนประจำจังหวัด จำนวน 150 คน จากเดิมที่กำหนดให้ใช้ตัวตัวแทนจากเขตเลือกตั้ง เขตละ 100 คน หรือใช้สาขาพรรค ที่กำหนดจำนวน 500 คน , 4. การชำระค่าธรรมเนียมของสมาชิกพรรค จากกฎหมายเดิมกำหนดให้ ชำระแบบรายปีๆละ ไม่ต่ำกว่า 50 บาท หรือตลอดชีพ 1,000 บาท โดยจะปรับให้เป็น 200 บาทตลอดชีพ และ 5. ข้อกำหนดให้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคเพื่อดำรงสถานะความเป็นพรรคการเมือง ที่กำหนดให้ภายใน 5 ปีต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 30,000 คน เปลี่ยนเป้น ภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิก 2,000 คนและภายใน 3 ปี มีสมาชิก 5,000 คน

 

           นายโกวิทย์ กล่าวด้วยว่าทั้งนี้ยังมีประเด็นที่คณะทำงานเห็นไม่ตรงกันและต้องถกในรายละเอียดอีกครั้ง คือ ประเด็นว่าด้วยการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.  ที่พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการให้แยกหมายเลข ระหว่าง ส.ส.เขต และแบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่พรรคอื่นเห็นด้วยให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้ง ผู้สมัครแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ดีในประเด็นที่เห็นต่างหากไม่ได้ข้อสรุปได้ตกลงว่าจะให้แต่ละพรรคใช้กลไกของกรรมาธิการ และการแปรญัตติพิจารณา 

 

           “จากการหารือของคณะทำงาน ขณะนี้ให้ฝ่ายเลขาคณะทำงาน ยกร่างเนื้อหาแล้ว และในการประชุมสัปดาห์หน้าจะนำเนื้อหาเสนอเพื่อพิจารณาอีกครั้ง  จากนั้นในสัปดาห์ถัดไปจะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง หารืออีกครั้ง และคาดว่าจะเสนอร่างแก้ไขต่อรัฐสภาได้ช่วงเดือนมกราคมปี65” นายโกวิทย์ กล่าว.