ร.ฟ.ท.ลุยรถไฟสายใหม่ “ระยอง-ตราด” งบลงทุนกว่า 5.4 หมื่นล้าน
สนข.เผยโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีคืบ 49% เร่งก่อสร้าง 36 โครงการ เล็งเสนองบปี 2566 ดัน 35 โครงการ ร.ฟ.ท.ปัดฝุ่นทางเดี่ยวสายใหม่ และทางคู่ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด 5.4 หมื่นล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยระบุว่า สนข.ได้สรุปผลการดำเนินงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี 168 โครงการ มูลค่ารวม 9.88 แสนล้านบาท พบว่ามีโครงการที่ดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 83 โครงการ คิดเป็น 49%
โดยโครงการสำคัญที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ (Ferry Terminal) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของกองทัพเรือ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 36 โครงการ หรือคิดเป็น 21% อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง (เชื่อม 3 สนามบิน) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาศูนย์การแพทย์ระดับสากล (Medical Hub) การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด (ระยะที่ 3) และโครงการปรับปรุงก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อท่องเที่ยวเกาะล้าน
สำหรับปีหน้ามีโครงการโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เตรียมเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 เป็นต้นไป 35 โครงการ หรือคิดเป็น 21% โดยมีโครงการสำคัญที่จะพัฒนา อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ชลบุรี-นครราชสีมา (แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ทล.359) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ชลบุรี-ตราด (ชลบุรี-แกลง) และโครงการทางเดี่ยวสายใหม่ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 150 กิโลเมตร
แหล่งข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยว่า โครงการในอีอีซีที่ ร.ฟ.ท.จะผลักดันในปี 2565 นอกจากการพัฒนาระบบขนส่งทางรางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางแล้ว ยังจะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 เพื่อออกแบบและจัดทำรายละเอียดวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการทางเดี่ยวและทางคู่สายใหม่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด หลังจากที่โครงการนี้ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ และก่อนหน้านี้ถูกชะลอการลงทุนออกไป โดยคาดว่าจะดำเนินการหลังปี 2570
“ทางเดี่ยวและทางคู่สายใหม่เส้นนี้ เป็นแนวเส้นทางที่การรถไฟฯ ศึกษาเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าและขนส่งผลไม้ ตอบรับกับพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกที่เป็นศูนย์กลางของการส่งออกผลไม้ที่สำคัญของประเทศ แต่ก่อนหน้านี้เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้โครงการต้องชะลอออกไปก่อนจะไปทำหลังปี 2570”
อย่างไรก็ดี จากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ผลักดันแผนแม่บทการพัฒนา MR-Map จำนวน 10 เส้นทาง เป็นการพัฒนามอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง โดยหนึ่งในนั้นมีเส้นทาง MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง (มาบตาพุด)/ตราด (ด่านคลองใหญ่) ระยะทาง 467 กิโลเมตร ถือเป็นแนวเส้นทางที่คู่ขนานไปกับรถไฟช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด โครงการนี้จึงถูกนำมาผลักดันให้เกิดขึ้น และจะมีการเสนอของบประมาณปี 2566 เพื่อเริ่มต้นออกแบบรายละเอียด
สำหรับโครงการทางเดี่ยวสายใหม่ และทางคู่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด มีระยะทาง 218 กิโลเมตร โดยมีวงเงินลงทุนรวมกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการทางเดี่ยวสายใหม่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด วงเงิน 3.9 หมื่นล้านบาท และโครงการทางคู่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หาก ร.ฟ.ท.ได้รับงบประมาณออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบราว 1 ปี แล้วเสร็จในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนประมูลหาผู้รับเหมา โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี จึงคาดว่าโครงการนี้จะเปิดให้บริการในช่วงปี 2571 โดย ร.ฟ.ท.มั่นใจว่ารถไฟสายใหม่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด จะเป็นเสมือนแขนขาของอีอีซี เชื่อมการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีไปยังท่าเรือแหลมฉบังสะดวกขึ้น
ในส่วนของแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด แบ่งเป็น 3 ช่วง โดยแนวเส้นทางช่วงที่ 1 เส้นทางเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม สู่นิคมอุตสาหกรรม มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีชุมทางศรีราชา - สถานีมาบตาพุด และจากสถานีบางละมุง-สถานีมาบตาพุด ซึ่งจะเป็นเส้นทางเชื่อมนิคมอุตสาหกรรมสู่นิคมอุตสาหกรรม 10 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1-3 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง นิคมอุตสาหกรรมโรจนะบ่อวิน นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง
แนวเส้นทางช่วงที่ 2 เส้นทางเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม สู่พื้นที่ อำเภอเมืองระยอง มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีมาบตาพุด-อำเภอเมืองระยอง และแนวเส้นทางช่วงที่ 3 เส้นทางเชื่อมโยงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) และการท่องเที่ยว มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางจากอำเภอเมืองระยอง-อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยสิ้นสุดเส้นทางที่ด่านศุลกากร อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดที่เชื่อมการขนส่งสินค้าไปประเทศกัมพูชาได้