ยังไม่ได้เงินช่วยเหลือชาวนา โอดน้ำท่วม-ภัยแล้งข้าวเสียหาย ธ.ก.ส. มีคำตอบ
เกษตรกรโอด เจอทั้งน้ำท่วม-ภัยแล้งข้าวเสียหาย ยังไม่ได้เงินช่วยเหลือชาวนา ยังรอความหวัง โครงการประกันรายได้เกษตรกร นำมาจ่ายหนี้ค่ารถเกี่ยวข้าว ตรวจสอบ ธ.ก.ส. มีคำตอบ เงินไร่ละ 1,000 บาท และ เงินประกันราคาข้าว
อัพเดทต่อเนื่อง เกษตรกรโอด เจอทั้งน้ำท่วม-ภัยแล้ง ทำให้ข้าวเสียหาย แต่ยังไม่ได้ เงินช่วยเหลือชาวนา โดยยังรอความหวัง โครงการประกันรายได้เกษตรกร นำมาจ่ายหนี้สิน ตรวจสอบ ธ.ก.ส. มีคำตอบ เงินไร่ละ 1,000 บาท และ เงินประกันราคาข้าว
วันนี้ (10 ธันวาคม 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา หลังจากประสบกับสถานการณ์ภัยแล้ง เมื่อเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกในปี 2564 ต่อเนื่องด้วยอุทกภัยเมื่อข้าวถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้นาข้าวของเกษตรกรหลายรายได้รับความเสียหาย ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ประกอบกับสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
จากการลงพื้นที่ นายสมชาย วิชัยรัตน์ ชาวนาบ้านหัวตลาด ตำบลสำพะเนียง อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ที่นาของตนเองประมาณ 50 ไร่ ได้ถูกภัยธรรมชาติเล่นงานทั้งภัยแล้งและถูกน้ำท่วมขัง ทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหาย ซึ่งเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวตนเองก็ต้องว่าจ้างรถเกี่ยวข้าว เพื่อนำมาเก็บเกี่ยวเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เพาะปลูกในปีถัดไปด้วย ซึ่งที่นา 50 ไร่ของตนเองในปีนี้เก็บเกี่ยวข้าวได้เพียง 1-2 ตันเท่านั้น ทำให้ไม่มีข้าวเพียงพอจะนำไปขาย ก็ได้แต่เพียงหวังพึ่งเงินประกันราคาข้าวที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเพื่อนำเงินในส่วนนี้ไปจ่ายค่ารถเกี่ยวข้าวที่ติดค้างเอาไว้
ขณะที่ ป้าแจ๋ว อยู่เย็น ก็ประสบเหตุในลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่ต้องรอเงินประกันราคาข้าวเปลือกเพื่อนำไปจ่ายให้กับค่ารถเกี่ยวข้าวประมาณ 10,000 – 20,000 บาท ซึ่งก็ยังไม่คุ้มค่ากันกับผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้ พร้อมอยากให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับชาวนาที่ถูกผลกระทบกับน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา เพื่อที่ชาวนาจะได้ไม่ต้องรับภาระหนักจนเกินไป
กรุงเทพธุรกิจ ได้รายงานความคืบหน้า โครงการประกันรายได้เกษตรกร อย่างต่อเนื่อง นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยล่าสุดว่า ตามที่ ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 ตามกรอบการอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 จำนวน 74,569 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.69 ล้านครัวเรือน
เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้ได้รับผลตอบแทนจากการผลิตที่เหมาะสม เป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน และช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุทกภัย โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ
โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
- ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
- ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
- ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน
- ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง ตามข้อมูลที่ได้รับจากกรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 3 - 7 ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 64,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เช็คที่นี่ ธ.ก.ส. นัดวันโอน "เงินเยียวยา" ช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท
-
ตรวจสอบ "เงินประกันรายได้เกษตรกร" ส่วนต่าง "ประกันราคาข้าว" งวดที่ 9
-
รายงานราคาข้าวขายส่งตลาดกรุงเทพฯ (สมาคมโรงสีข้าวไทย) (9 ธันวาคม 2564)
เกษตรกร สามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการยกระดับราคาข้าวเปลือก ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตั้งเป้าดูดซับปริมาณข้าวเปลือก 2 ล้านตัน
ประกอบด้วย
ชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด
- ภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา)
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 และข้าวเปลือกเหนียว
คุณสมบัติข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ
- ต้องเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 และสีได้ต้นข้าวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม โดยในส่วนข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม)
- กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้
ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด 11,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด 9,500 บาท/ตัน
ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน
ข้าวหอมปทุมธานี 1 7,300 บาท/ตัน
และข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน
โดยเกษตรกร กู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละ ไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท กรณีชำระคืนภายใน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย (รัฐบาลรับภาระจ่ายแทน)
นอกจากนี้รัฐบาลยังช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯจะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญาตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง 31 กรกฎาคม 2565
และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพ เช่น การลดความชื้น การแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินกู้สำหรับสหกรณ์การเกษตร แห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งคิดจากสถาบันฯ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาล รับภาระแทน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2565.
ขณะที่ นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป ธนาคารจะเริ่มทยอยโอนจ่ายเงินค่าบริหารจัดการและพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน เป็นเงินกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ การจ่ายเงินดังกล่าวถือเป็นเงินช่วยเหลือต้นทุนแก่เกษตรกรในการบริหารจัดการการปลูกข้าว โดยจะให้เพิ่มเติมจากเงินประกันรายได้ เงินช่วยเหลือชาวนา ซึ่งจะจ่ายให้ไร่ละ 1 พันบาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ โดยฐานรายชื่อผู้ที่ได้เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะเป็นฐานเดียวกันกับฐานการจ่ายเงินประกันรายได้
ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง , ธ.ก.ส. และกรุงเทพธุรกิจ
ตรวจสอบ "ช่วยเหลือเกษตรกร" ตรวจสอบผลการรับการสนับสนุนตามโครงการรัฐ ได้ที่นี่
เข้าสู่เวบไซต์ chongkho.inbaac.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กรอกเลขประจำตัวประชาชน เพื่อใช้ในการเช็คเงินเกษตรกร การเช็คเงินเกษตรกร 2564 สามารถทราบผลได้ทันที หลังจากกรอกเลขบัตรประชาชน โดยจะมีรายละเอียดของบัญชี จำนวนเงิน และโครงการของเงินช่วยเหลือที่ได้รับ