ปิด "โรงพยาบาลบุษราคัมเชียงใหม่" พร้อมส่งผู้รักษาหาย 9 รายสุดท้ายกลับบ้าน
ปิด "โรงพยาบาลบุษราคัมเชียงใหม่" คืนพื้นที่แก่ธนารักษ์ พร้อมส่งผู้รักษาหาย 9 รายสุดท้ายกลับบ้าน และเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการป้องกันโรค
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการระบาดซ้ำอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในช่วงเดือนตุลาคม 2564
โดยจากรายงานการแพร่ระบาดของจังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า 100% ในชุมชน โรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในตลาด แล้วนำไปแพร่ต่อในครอบครัวและชุมชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564) เพื่อติดตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่
โดยได้เน้นย้ำ 3 ปัจจัยความสำเร็จ คือการเข้มงวดการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Univesal Prevention) การตรวจ ATK และฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 100% พร้อมสนับสนุนวัคซีน ฉีดให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด รวมถึงกลุ่มต่างชาติ ชนเผ่า สำหรับการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยของจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงสาธารณสุขได้นำเครือข่ายของเขตสุขภาพที่ 1 เข้ามาช่วยเหลือรองรับผู้ป่วย หากเตียงในจังหวัดเชียงใหม่ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ยังได้ให้คำแนะนำในการนำระบบ Community Isolation, Home Isolation และ Hospitel มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงให้เพิ่มการจัดทำ Covid Free Setting เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัย รองรับการเปิดประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้ นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ในการติดตามสถานการณ์โควิด-19 พร้อมให้คำปรึกษาในการดำเนินงานของจังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งภาครัฐและเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่ไม่เพียงพอจังหวัดเชียงใหม่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลบุษราคัมเชียงใหม่” ขึ้น ณ อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา
การดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ ก่อเกิดคุณูปการแก่พี่น้องประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ได้รับดูแลรักษาจากทีมแพทย์และสาธารณสุข จนหายป่วยและกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข จำนวนถึง 7,740 ราย แบ่งเป็น
- ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง หรือ ผู้ป่วยสีเขียว จำนวน 6,672 ราย
- ผู้ป่วยอาการปานกลาง หรือ ผู้ป่วยสีเหลือง จำนวน 1,029 ราย
- ผู้ป่วยอาการรุนแรง หรือ ผู้ป่วยสีแดง จำนวน 39 ราย
ถ้านับตั้งแต่ผู้ป่วยคนแรกที่เข้ารับการรักษาจนถึงผู้ป่วยคนสุดท้ายโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 250 วัน
ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งขีดความสามารถด้านการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการพัฒนารูปแบบการรักษาที่สามารถรักษาติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงได้ทั้งในรูปแบบ Community Isolation และ Home Isolation จนทำให้จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดทั้งระดับสีเขียว สีเหลือง สีแดง ของจังหวัดเชียงใหม่มีอย่างเพียงพอที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่เห็นชอบให้มีการปิดโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่
วันนี้ (15 ธ.ค.64) จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานพิธีปิดโรงพยาบาลบุษราคัมเชียงใหม่ หรือ โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ "ส่งมอบรอยยิ้มให้บ้านเมือง คืนความรุ่งเรืองให้เมืองเชียงใหม่" ณ โถงด้านหน้าอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาจังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมประกอบด้วย พิธีมอบใบรับรองแพทย์แก่ผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสนามกลุ่มสุดท้าย ที่รักษาตัวจนหายเป็นปกติแล้ว จำนวน 9 ราย การมอบประกาศเกียรติบัตร ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ทีมผู้ปฏิบัติงาน พร้อมพิธีเสริมพลัง สร้างขวัญวันกลับบ้าน
ทั้งนี้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการส่งมอบพื้นที่โรงพยาบาลสนามคืน ให้กับผู้แทนของกรมธนารักษ์ และผู้จัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรม จัดงานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไป ซึ่งสอดรับกับนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้มีการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ