กรมบัญชีกลางเร่งฟร้อนโหลดเบิกจ่ายงบ65

กรมบัญชีกลางเร่งฟร้อนโหลดเบิกจ่ายงบ65

กรมบัญชีกลางชงครม.เร่งฟร้อนโหลดการเบิกจ่ายงบภาครัฐ ตั้งเป้าไตรมาสแรก 30%ของวงเงินงบ 65 เพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าระบบฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมแก้กฎหมายจัดซื้อฯเก็บค่าธรรมเนียมกรณีไม่มีเหตุอุทธรณ์ หลังพบหลายพันข้อร้องเรียนทำให้การจัดซื้อล่าช้า​

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ในปี 2565 เม็ดเงินจากการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น กรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่ในการเร่งรัดการเบิกจ่ายจะพยายามเร่งรัดให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ส่วนราชการเร่งเบิกจ่ายในลักษณะฟร้อนโหลดให้ได้ 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสแรกของปี65

“เร็วๆนี้ กรมฯจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายของส่วนราชการ เพื่อให้งบประมาณรายจ่ายได้ลงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยไตรมาสแรกของปี 65 จะต้องเบิกจ่ายให้ได้ 30% ของวงเงินที่ได้รับ และทยอยเบิกจ่ายให้ได้ 100% ตลอดปีงบประมาณ”

สำหรับ ปีงบประมาณ 2565 กรมฯได้รับเป้าหมายเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรวมอยู่ที่ 93% ในจำนวนนี้ เป็นเป้าหมายงบลงทุนรวม 75% ซึ่งยอมรับว่าเป็นสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่อาจกระทบการเบิกจ่าย โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน อย่างไรก็ดี ในการเบิกจ่าย โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2564 ผลเบิกจ่ายงบประมาณรวมอยู่ที่ 91.67% ส่วนงบลงทุนเบิกจ่ายได้ 70.88%

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพ.ย. 2564 ยอดการเบิกจ่ายงบประมาณอยู่ที่ 7.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 23.29% แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 6.48 แสนล้านบาท คิดเป็น 25.99% และรายจ่ายลงทุน 7.38 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 12.19%

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวด้วยว่า กรมฯจะเร่งให้มีการปรับปรุงกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยเฉพาะในประเด็นที่มีการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมากหรือราว 1.5-2 พันรายการต่อปี ซึ่งการพิจารณาข้ออุทธรณ์ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ทำให้เกิดความล่าช้าในการใช้จ่าย

ทั้งนี้ ในกรณีกรมฯพิจารณาแล้วว่า การอุทธรณ์ดังกล่าวไม่มีเหตุให้อุทธรณ์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่กรมฯเพราะถือว่า ทำให้เกิดความล่าช้า โดยกรมฯจะเข้าไปเพิ่มเติมประเด็นนี้ในข้อกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งผู้ประกอบการที่ชนะการประมูล แต่ไม่สามารถเดินหน้าในการดำเนินโครงการได้

เธอกล่าวด้วยว่า นอกจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายแล้ว กรมฯยังจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  อาทิ การกำหนดให้มีเอสเอ็รัฐในแต่ละครั้งมีแต้มต่อสำหรับการเสนอราคากับผู้ประมูลรายใหญ่ประมาณ 10%

“เราต้องการให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐด้วย เพื่อให้เม็ดเงินได้หมุนเวียนและเกิดการจ้างงานในระดับรากหญ้าด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศอีกด้วย แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้วัสดุจากต่างประเทศก็สามารถทำได้”