โควิด-19 "โอมิครอน" อาการน้อย แต่ทำไมถึงแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" อาการผู้ติดเชื้อและปัจจัยการติดต่อและแพร่กระจายของโรค
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" อาการผู้ติดเชื้อและปัจจัยการติดต่อและแพร่กระจายของโรค
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรุป “อาการโอมิครอน” น่ากลัวแค่ไหน วัคซีนป้องกันได้ไหม?
- "อาการโอมิครอน" อาจเกิดอาการแทรกซ้อนระยะยาวใน 5 กลุ่ม
- "ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม3" ป้องกัน"โอมิครอน" ต้องเว้นระยะห่างกี่เดือน
โดย "หมอยง" ระบุว่า โควิด-19 "โอมิครอน" การติดต่อและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ในระยะหลังมีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วขึ้นมาก โดยตลอดตามสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการขึ้นมา
ปัจจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัด มีการติดเชื้อแล้วผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่กระจายได้ อัตราการเสียชีวิตของทั่วโลกก็เริ่มลดลงมาโดยตลอด จะเห็นได้จากตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่นในระยะแรกอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 3-5%
และต่อมามีการระบาดที่ยุโรปโดยเฉพาะอิตาลี อัตราการเสียชีวิตในระยะแรกค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มที่จะลดลงมาเรื่อยๆ การเสียชีวิตทั่วโลกขณะนี้น้อยกว่า 2% ประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 0.9% และแนวโน้มการติดเชื้อจะอยู่ในกลุ่มที่มีอายุน้อยลง อัตราการเสียชีวิตก็จะน้อยลงเรื่อยๆ
เมื่อมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ประชากรกลุ่มดังกล่าวจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การแพร่กระจายเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศ เกือบทั้งหมดแทบจะไม่มีอาการ สามารถเดินทางได้ การวัดไข้ก็จะจับไม่ได้ และก็สามารถพร้อมที่จะแพร่เชื้อได้
ในระยะหลัง การติดตามผู้สัมผัสโรคหรือการบอกไทม์ไลน์เมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ จึงทำให้มีผู้ติดเชื้อแบบซ่อนเร้น เป็นผู้แพร่กระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี
การป้องกันตนเองในขณะนี้ ขอให้คิดไว้ก่อน ว่าบุคคลที่เราจะใกล้ชิด อาจจะเป็นผู้ติดเชื้อ จึงต้องมีการปฏิบัติที่เข้มงวดโดยตลอด
ที่มาเฟซบุ๊ก หมอยง
พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์