ดร.สถาพร ชี้ Internet of Things เปลี่ยนธุรกิจการศึกษาอนาคต
"รศ.ดร.สถาพร" คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้“Internet of Things” เปลี่ยนธุรกิจการศึกษาอนาคต
คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ฉายวิสัยทัศน์ การปั้นบุคลากรออกสู่ภาคธุรกิจ ต้องปรับตัวทุกทิศทางตามสถานการณ์โลกปัจจุบัน “สมาร์ทโฟน” และ “Internet of Things” จุดเปลี่ยนธุรกิจการศึกษาอนาคต
รศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงทิศทางอนาคตการศึกษาไทย ว่า โลกธุรกิจทุกวันนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายที่มาจากความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและพลวัตรทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งต้องอาศัยการดำเนินธุรกิจที่ทันต่อเหตุการณ์และสามารถปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษาที่ในอดีตไม่ได้มีพัฒนาการที่รวดเร็วมากอย่างปัจจุบันนี้
เนื่องจากองค์ความรู้ต่าง ๆ จะมีอยู่เฉพาะในตำราที่มีอยู่อย่างจำกัดภายในห้องสมุดหรือโดยการถ่ายทอดจากอาจารย์ผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น ในขณะที่สมาร์ทโฟนและ Internet of Things ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้การหาความรู้ด้วยตนเองไม่มีขีดจำกัด และไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่อีกต่อไป
“ในปัจจุบันความรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายในทุกที่ทุกเวลาเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต การศึกษาด้านบริหารธุรกิจในยุคใหม่จึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดองค์ความรู้ หากแต่เป็นการพัฒนาทักษะ (Skill) ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ โดยการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนให้ชำนาญจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ”
รศ.ดร.สถาพรกล่าวต่อว่าในขณะที่โลกของการศึกษากำลังมุ่งไปสู่การเตรียมความพร้อมของผู้เรียนเพื่อรองรับการมาถึงของยุคดิจิทัล เช่น ทักษะในการเขียนโปรแกรม (Coding) และการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่สำหรับการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแล้ว ทักษะในเรื่องดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องหลักที่ผู้เรียนทุกคนต้องรู้อย่างลึกซึ้งจนถึงขั้นที่สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อพัฒนาระบบหรือแอปพลิเคชั่นเองได้
หากแต่ต้องเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นว่าใช้งานอย่างไร และรู้ถึงลักษณะของข้อมูลและประโยชน์ที่จะได้รับจนสามารถหาแนวทางในการประยุกต์เทคโนโลยีเหล่านั้นมา สร้างประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง
“ หนึ่งในทักษะที่มีความสำคัญมากสำหรับการดำเนินธุรกิจ คือ ทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งต้องไม่ใช่เป็นแค่นักคิดที่รู้ แต่ยังต้องเป็นนักปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับ “How and When to do it” การเรียนด้านบริหารธุรกิจ จึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบ คิดแบบมีตรรกะ และคิดในเชิงวิเคราะห์ รวมถึงมีสนามฝึกซ้อมให้ผู้เรียนได้ทดลองแก้ปัญหาทางธุรกิจด้วยตัวเองได้”
อาจารย์คนเดิมย้ำว่าในขณะที่หุ่นยนต์ (Robot) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นกิจวัตร หรือเป็นแบบขั้นตอน แต่ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังไม่สามารถมาทดแทนการทำงานที่ต้องอาศัยสัมผัสมนุษย์ ได้ ดังนั้นการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจยังต้องมีการสอดแทรกกระบวนการพัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่นและทักษะในการสื่อสารด้านภาษาด้วย
สำหรับบทบาทของอาจารย์นั้นจะต้องปรับไปสู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่จะทำหน้าที่ในการคลายข้อสงสัยแก่ผู้เรียนในส่วนของเนื้อหาที่มีความซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจด้วยตนเอง ตลอดจนเป็นผู้กระตุ้นและชักนำให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้และทฤษฏีมาต่อยอดหรือนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาทางธุรกิจผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยการใช้กรณีศึกษา โปรเจคของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ และเกมจำลองสถานการณ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการแก้ปัญหาในบรรยากาศเสมือนจริง
รศ.ดร.สถาพรย้ำด้วยว่าด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและการปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจึงต้องเป็นผู้นำทางความคิดที่รู้เท่าทันต่อกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้ด้วยวิสัยทัศน์ที่ผ่านกระบวนการขัดเกลาจากการทำงานวิจัยและการให้คำปรึกษาทางวิชาการอย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจและจะต้องสามารถคาดการณ์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจในอนาคตที่ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ด้วย
“ปัจจุบันทุกคนมีต้นทุนทางความรู้ที่เท่าเทียมกันตามข้อมูลที่มีอยู่มากมายในโลกของอินเทอร์เน็ต แต่ทักษะต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาและต้องมีการชี้แนะจากอาจารย์ผู้สอนที่มีประสบการณ์และรู้จริงเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จได้”รศ.ดร.สถาพรย้ำทิ้งท้าย