เปิดศักราชใหม่ 2565 คดี"เมาแล้วขับ"สะสม 4 วันยอดทะลุกว่า2,400 คดี

เปิดศักราชใหม่ 2565 คดี"เมาแล้วขับ"สะสม 4 วันยอดทะลุกว่า2,400 คดี

เริ่มต้นปีใหม่ เมาแล้วขับยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม สถิติคดีเมาแล้วขับยอดสะสม 4 วันมีจำนวน 2,458 คดี และจังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับ ยอดสะสมสูงสุด 3 อันดับยังเป็นจังหวัดเดิมๆ

วันนี้ (2 มกราคม 2565) วิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า สถิติคดีขับรถในขณะเมาสุราที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ ต้อนรับวันปีใหม่ 1 มกราคม 2565 มีเพียง 52 คดี เนื่องจากศาลส่วนใหญ่ปิดทำการ ซึ่งสถิติยอดรวมสะสม 4 วัน ที่มีการควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 - 1 มกราคม 2565  มีจำนวน 2,952 คดี

จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 2,458 คดี คิดเป็นร้อยละ 83.27 ,คดีขับเสพ 484 คดี คิดเป็นร้อยละ 16.4 คดีขับรถประมาท 10 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.34

สถิติคดีเมาแล้วขับ

จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุรายอดสะสมสูงสุด 3 อันดับ ยังคงเป็นจังหวัดเดิม ได้แก่ ชัยภูมิ 194 คดี สกลนคร 159 คดี และบุรีรัมย์ 157 คดี

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติในวันที่สี่ของช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 และ พ.ศ. 2565 พบว่า คดีขับรถในขณะเมาสุรา ปี พ.ศ. 2564 จำนวน 36 คดี และ ปี พ.ศ. 2565 มีจำนวน 52 คดี เพิ่มขึ้น 16 คดี

นอกจากนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ยังคงสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชน โดยร่วมกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย และผู้ถูกคุมความประพฤติ

เปิดศักราชใหม่ 2565 คดี\"เมาแล้วขับ\"สะสม 4 วันยอดทะลุกว่า2,400 คดี

พร้อมทั้งจัดให้มีการทำงานบริการสังคม โดยการตรวจเยี่ยมด่าน แจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น ตรวจวัดอุณหภูมิ และอำนวยความสะดวกการจราจรแก่ประชาชนที่เดินทาง ณ จุดบริการประชาชน และด่านชุมชน จำนวน 37 จุด มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 1,100 คน

เปิดศักราชใหม่ 2565 คดี\"เมาแล้วขับ\"สะสม 4 วันยอดทะลุกว่า2,400 คดี

มาตรการคุมเข้ม เมาแล้วขับ

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมคุมประพฤติ เน้นย้ำมาตรการคุมเข้มสำหรับผู้กระทำผิดในฐานความผิดขับรถในขณะเมาสุรา มีทั้งการติดกำไล EM และจัดกิจกรรมให้ความรู้  เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร การให้ความรู้เกี่ยวกับการลด ละ เลิกแอลกอฮอล์

รวมทั้งการจัดกิจกรรมการทำงานบริการสังคม ที่สร้างจิตสำนึก และตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนและการป้องกันอุบัติเหตุ ได้แก่ อาสาพาเหยื่อเที่ยว การดูแลเหยื่อที่บ้าน การดูแลเหยื่อที่ตึกอุบัติเหตุ

อีกทั้งยังมีการจำแนกความเสี่ยง หากพบว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะส่งบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาล

หากผลการประเมินอยู่ในระดับควบคุมเข้มงวดหรือปานกลาง หรือมีประวัติการกระทำความผิดคดีขับรถขณะเมาสุรา ให้ส่งไปเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้น ในรูปแบบค่ายแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติความผิดฐานขับรถขณะเมาสุรา เป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง

และหากเห็นสมควรอาจเสนอศาลให้เพิ่มเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามความเหมาะสม เช่น การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานบริการสังคม