นครพนม พบผู้ป่วย "โอมิครอน" แล้ว 16 ราย - ปิดโรงเรียนทุกระดับ
สสจ.นครพนม แถลงพบเชื้อโอมิครอนแล้ว 16 ราย สั่งปิดโรงเรียนทุกระดับ 2 สัปดาห์ จับตาคลัสเตอร์งานบวช - ส่วนสนามชนไก่/กัดปลา ยังไม่อนุญาตให้เปิด
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 65 ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นพ.ปรีดา วร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม (สสจ.) นพ.ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผอ.รพ.นครพนม นพ.กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงศ์เวช รอง สสจ.ฯ ด้านเวชกรรมป้องกัน ได้แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มจำนวน 30 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อในจังหวัด 24 ราย และติดเชื้อจากการเดินทางมาจากนอกพื้นที่ 6 ราย (กทม. 2 ราย, ชลบุรี 2 ราย, สกลนคร 1 ราย, อุบลราชธานี 1 ราย) ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 5,343 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 28 ราย
โดย นพ.กิตติเชษฐ์ กล่าวถึงภาพรวมการแพร่ระบาดของประเทศ รวมถึงการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขว่า หลังเทศกาลปีใหม่จะมีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้น ซึ่งในพื้นที่จังหวัดนครพนมปัจจุบันมี 48 คลัสเตอร์ ควบคุมได้แล้ว 46 คลัสเตอร์ อีกสองคลัสเตอร์คือ 1.บ้านนามน ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม พบผู้ป่วยที่เดินทางมาจาก จ.กาฬสินธุ์ เป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ก่อนจะแพร่สู่คนรอบข้างรวม 13 ราย ขณะนี้หลังปิดหมู่บ้านบางจุดสามารถควบคุมได้ทั้งหมดแล้ว คลัสเตอร์ต่อมาที่กำลังตรวจคัดกรองเชิงรุกเป็นงานบวชบ้านหนองยาว ต.คำเตย อ.เมืองนครพนม โดยเจ้าภาพจ้างหมอลำมาแสดงจาก จ.อุบลฯ และ จ.อุดรฯ ซึ่งหลังจบการแสดงคณะหมอลำได้โทรแจ้งเจ้าภาพว่ามีคนในคณะติดโควิด จึงเข้ารับการตรวจหาเชื้อพบว่าเจ้าภาพติดเชื้อแล้ว 4 ราย คัดกรองเชิงรุกพบอีก 20 รายโดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 127 ราย ส่วนเชื้อโควิดได้ส่งไปตรวจในห้องแลปยังไม่ยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ใด และมีมติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ได้มีคำสั่งปิดบ้านหนองยาว หมู่ที่ 11 ต.คำเตย อ.เมืองนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นอกจากนี้ นพ.กิตติเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ เวลานี้ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ตรวจพบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 16 ราย คือ 1.บ้านนามน 13 ราย และ 2.บ้านแสนพัน อ.ธาตุพนม ที่เดินทางกลับมาจากประเทศสวีเดน 3 ราย
ด้าน นพ.ปรีดา กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนมได้มีมติให้สั่งปิดโรงเรียนทุกระดับของจังหวัดนครพนม ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2565 เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานศึกษาหลังเทศกาลปีใหม่ พร้อมไฟเขียวให้เปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยชุมชน (Community Isolation) รองรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 820 เตียง ควบคู่กับการแบ่งรักษาที่โรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม หากมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ส่วนสนามชนไก่/กัดปลายังไม่อนุญาตให้เปิดขอให้ชะลอออกไปก่อน หากสถานการณ์ดีขึ้นหลังวันที่ 15 มกราคม ค่อยนำกลับมาพิจารณาใหม่ นอกจากนี้ก็รอรับวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในครัวเรือนด้วย
ส่วน นพ.ธนสิทธิ์ กล่าวว่า หลังวันที่ 30 ธันวาคม 64 ได้อัพเดทข้อมูลผู้ป่วยโควิดคาดว่าไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะมาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า แม้โอมิครอนไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลต้าแต่ติดเร็ว และเชื้อไม่ลงปอด การรักษาจึงมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย มีสีเขียว เหลือง และแดง โดยสีเขียวมาตรการเดิมจะให้อยู่ในสถานกักกันของรัฐ ส่วนเหลืองกับแดงให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาล เมื่อเชื้อเปลี่ยนไปไม่รุนแรงกว่าเก่าจึงให้สีเขียวกับเหลืองอยู่ในสถานกักกันของรัฐ ยกเว้นสีแดงพบผู้ป่วยมีไข้สูง 39 องศาฯ และไอถี่ หรือผู้มีโรคประจำตัวจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ปัจจุบันใน รพ.นครพนม มีคนไข้โควิด 44 ราย จึงไม่ไปกระทบเตียงอื่นๆ การรักษาพยาบาลคนไข้อื่นก็ยังเป็นไปตามปกติ
“การดูแลผู้ป่วยโควิด ถ้าเป็นสายพันธุ์เดลต้าถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการ จะใช้เวลารักษาประมาณ 10-14 วัน ส่วนโอมิครอนไม่มีอาการเช่นเดียวกันจะใช้เวลารักษา 6-8 วันเท่านั้น แม้ความรุนแรงของโอมิครอนค่อนข้างต่ำ ที่สำคัญทุกคนต้องได้รับวัคซีนถึงจะป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีที่สุด” ผอ.รพ.นครพนม กล่าว
สำหรับสถานประกอบการ ขณะนี้ได้มีสถานประกอบการบางส่วนได้ขอเปิดไว้ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ ซึ่งทางจังหวัดจะไม่อนุญาตให้เปิดทั้งหมด แต่จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ส่วนภาพรวมจำนวนเตียงการรักษาผู้ป่วยทั้งเตียงของโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชม 12 อำเภอ มีทั้งหมด 444 เตียง ใช้ไป 84 เตียง และยังคงเหลือขณะนี้ 360 เตียง
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลปัจจุบันจังหวัดนครพนมได้รับการฉีดวัคซีนทุกเข็มแล้วประมาณเกือบ 65 % ซึ่งยังถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 70 % แต่มีบางส่วนคนในพื้นที่อาจไปรับการฉีดวัคซีนที่จังหวัดอื่น ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นั้น ทางจังหวัดได้ตั้งเป้าที่ประชาชนจะต้องได้รับการฉีด 20 % แต่ตอนนี้มีประชาชนเข้ารับการฉีดไปเพียง 4 % เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามที่กำหนด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19