ครม.เห็นชอบ24 พ.ค.ของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนแห่งชาติ”

ครม.เห็นชอบ24 พ.ค.ของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนแห่งชาติ”

ครม.เห็นชอบ24 พ.ค.ของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนแห่งชาติ” ด้าน "วราวุธ" เผยผลความสำเร็จ ส่งเสริมป่าชุมชนแล้ว 6.29 ล้านไร่ กักเก็บคาร์บอนถึง 40 ล้านตัน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ได้ดำเนินการบริหารจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วมตามแนวทางป่าชุมชน มาตั้งแต่ปี 2543 โดยการส่งเสริมให้ชุมชนที่อยู่อาศัยรอบเขตป่ารวมถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง เข้ามาช่วยเหลือดูแลจัดการทรัพยากรป่าไม้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนภายใต้ข้อกฎหมายและระเบียบที่กำหนด โดยน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงให้ความสำคัญต่อป่าไม้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาป่า ส่งผลให้รัฐบาล หน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันปลูกและฟื้นฟูป่า รวมทั้งมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาป่า ในรูปของ “ป่าชุมชน” มากยิ่งขึ้น 

 

ครม.เห็นชอบ24 พ.ค.ของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนแห่งชาติ”

“อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ขึ้น ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 23 กันยายน2564 ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล มีมติที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอวันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันป่าชุมชนแห่งชาติ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 11 มกราคม2565 เพื่อขอขอความเห็นชอบให้วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันป่าชุมชนแห่งชาติ” นายวราวุธ กล่าว 


 นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการกำหนดให้วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันป่าชุมชนแห่งชาติ ประกอบด้วย หนึ่ง ประชาชนทั้งชาวป่าชุมชนและประชาชนทั่วไป มีความซาบซึ้ง และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน สอง ประชาชนทั่วไป หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของป่าชุมชนและทรัพยากรป่าไม้ของชาติรวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์ป่าชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สาม เครือข่ายป่าชุมชนและประชาชนทั่วไปได้มีโอการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาป่าชุมชนแต่ละแห่งอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภูมิสังคมหรือวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย และสี่ ป่าชุมชนของประเทศได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 สอดคล้องกับหลักวิชาการ และเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

โดยตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการจัดการป่าชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562จำนวน 11,327 แห่ง ชุมชนมีส่วนร่วม 13,028 หมู่บ้าน เนื้อที่ 6.29 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศให้ได้จำนวน จำนวน 15,000 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 10 ล้านไร่


นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวว่าได้มอบหมายให้กรมป่าไม้กำหนดเป็นแผนปฏิบัติงานและแผนงบประมาณประจำปี โดยสนับสนุนให้หมู่บ้านเป้าหมายมีความสามารถวางแผนและเสนอโครงการบริหารจัดการป่าตามความจำเป็นและความต้องการของชุมชน ตามความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่และสอดคล้องกับระเบียบกฎหมาย รวมทั้งต้องเป็นการดูแล รักษา หรือฟื้นฟูบำรุงป่าไม้ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการอนุรักษ์ด้านการฟื้นฟู ด้านการพัฒนา ด้านการควบคุมดูแล และด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน มาตั้งแต่ปีงบประมาณ2548 - ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 5,923 หมู่บ้าน รวมเงินงบประมาณ 443,090,000 ล้านบาท


“ จากผลการประเมินป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวน  11,327 ป่าชุมชน พบว่า จำนวนประชาชนที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน 4,221 ล้านบาท การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชน 40 ล้านตันคาร์บอน การกักเก็บน้ำในดินและปลดปล่อยน้ำท่า 4,321 ล้านลูกบาศก์เมตร และการประเมินมูลค่าระบบนิเวศของป่า 564,449 ล้านบาท”