อัพเดท "หมู" ขาดแคลนหนัก กระทบออเดอร์หมูย่าง "ตรุษจีน"
สถานการณ์ "หมู" อัพเดทล่าสุด สุกรขาดแคลนหนัก กระทบออเดอร์หมูย่าง "ตรุษจีน" ประชาชนหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทน
บรรยากาศแผงขายหมูสด ในตลาดเทศบาลนครตรัง พบว่าค่อนข้างเงียบเหงา เหตุหมูราคาแพง ประชาชนจึงหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทน
นางเหนียว เมฆประสิทธิ์ อายุ 78 ปี แม่ค้าหมู กล่าวว่า เขียงหมูค่อนข้างซบเซา ขายยากขึ้น เพราะราคาหมูแพงขึ้น โดยวันนี้ราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 บาท ราคาเนื้อหมูที่ขายก็แพงขึ้น เนื้อหมูแดง ราคากิโลกรัมละ 200 บาท หมูสามชั้น กิโลกรัมละ 250 บาท กระดูกซี่โครง กิโลกรัมละ 180 บาท หมูบด กิโลกรัมละ 180 บาท และเครื่องใน กิโลกรัมละ 150 บาท โดยยอดขายในแต่ละวันถือว่าน้อยมาก แม่ค้าก็ลดจำนวนหมูลง
ขณะที่ ผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรัง ก็เดือดร้อนเช่นเดียวกัน เนื่องจากหมูมีราคาแพงทำให้ราคาหมูย่างต้องปรับตัวสูงขึ้น ขณะนี้ราคากิโลกรัมละ 500 – 550 บาท แต่ที่สำคัญขณะนี้ขาดแคลนหมูสำหรับการทำหมูย่าง เดิมหมูสำหรับทำหมูย่างเมืองตรังนั้น มีแหล่งที่มาจาก 2 แหล่ง คือ ฟาร์มของเกษตรกรในพื้นที่จ.ตรัง และส่วนหนึ่งนำเข้ามาจากจังหวัดพัทลุง แต่เนื่องจากประมาณเมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เกิดโรคระบาดในหมูทั้งในจังหวัดพัทลุง และจ.ตรัง
ทำให้หมูล้มตายลงและหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก ทั้งลูกหมู พ่อแม่พันธุ์ และหมูขุน จึงส่งผลมาถึงหมูขาดแคลนและราคาหมูแพงทั้งเขียงหมูและหมูย่างอยู่ในขณะนี้
และใกล้เทศกาลตรุษจีน ปกติแต่ละปีผู้ประกอบหมูย่างแต่ละราย จะรับออเดอร์ล่วงหน้าในการทำหมูย่างในช่วงเทศกาลตรุษจีนแล้วเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจบรรยากาศการจำหน่ายหมูย่างเมืองตรังก็ได้รับผลกระทบหนัก บางรายเคยย่างวันละ 3-4 ตัว เหลือแค่วันละ 1 -2 ตัวก็ขายแทบไม่หมด ร้านน้ำชากาแฟหลายร้านก็เลิกสั่งหมูไปขายหน้าร้านด้วย
นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่กล้ารับออเดอร์หมูย่างทั้งตัวช่วงเทศกาลตรุษจีน เพราะไม่มีหมู และราคาหมูก็ผันผวนหนัก จึงไม่กล้ารับ
นางยุพิน แท่นสุวรรณ อายุ 56 ปี เจ้าของร้านหมูย่างโกเภา (เสื้อเหลืองคนที่ 1) ซึ่งเป็นร้านหมูย่างที่ได้รับความนิยมจากชาวตรังและนักท่องเที่ยว กล่าวว่า ตอนนี้ที่ร้านได้รับปรับราคาหมูย่างจากเดิมกิโลกรัมละ 460 บาท มาจนถึงขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 550 บาท แต่ตอนนี้ประสบปัญหาหาหมูสำหรับย่างยากมาก ซึ่งพรุ่งนี้ต้องหยุดย่าง 1 วัน เพราะหาหมูมาทำหมูย่างไม่ได้ ซึ่งปกติหมูที่ให้ทำหมูย่างจะอยู่ในช่วงน้ำหนักตัว 80-90 กิโลกรัม ทราบว่าเหตุผลหาหมูยากเพราะติดตามข่าวพบว่าหมูเกิดโรคระบาด
โดยปกติตนจะใช้หมูจากจังหวัดใกล้เคียง มาทำหมูย่าง ซึ่งเมื่อร้านประสบปัญหาอย่างนี้ จึงต้องงดรับออเดอร์ล่วงหน้าในเทศกาลตรุษจีน เพราะเกรงว่าจะไม่มีหมูตามขนาด จำนวน ที่ลูกค้าต้องการ นอกจากนั้นขณะนี้ยอดขายแต่ละวันก็ต้องลดลง เพราะรับออเดอร์ได้จำกัด เนื่องจากขาดแคลนหมูสำหรับทำหมูย่าง
เช่นเดียวกับนางรุ่งรัตน์ รอถ้า อายุ 60 ปี เจ้าของร้านหมูย่างแม่ยิ้น กล่าวว่า ตนเองปรับราคาขึ้นมาครั้งเดียวจากกิโลกรัมละ 420 บาท เป็น 500 บาท และตอนนี้ยังยืนราคาที่ 500 บาท แต่หากราคาหมูหน้าฟาร์มยังขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะปรับราคาขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 550 บาท และจากการปรับราคาหมูย่างขึ้น ทำให้ลูกค้าลดลง เพราะคนเริ่มใช้จ่ายประหยัดขึ้น ยิ่งใกล้เทศกาลตรุษจีนจะขายได้ยาก เพราะประชาชนจะเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึง
ทั้งนี้ในเทศกาลตรุษจีนตนได้รับออเดอร์หมูย่างแบบทั้งตัวไว้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยวิกฤตหมูแผง ทำให้ประชาชนลดจำนวนการซื้อของไหว้ลง
น.ส.วีณา ลีลาโกสิทธิ์ เจ้าของร้านหมูย่างบ้านบัวบก ล่าสุด ที่ตนสั่งหมูมาย่าง หมูหน้าฟาร์มปรับราคาขึ้นอีกมา 2 บาทต่อกิโลกรัม จากกิโลกรัมละ 108 บาท เป็น 110 บาท ในขณะนี้ยอดขายหน้าร้านนั้นคงราคาเดิมมาตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยขายกิโลกรัมละ 550 บาท แต่แม้ราคาหมูย่างแพง แต่ไม่ทำให้ยอดขายลดลง เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะเข้าใจภาวะตลาดอยู่แล้ว และหากใกล้เทศกาลตรุษจีนราคาหมูเป็นยังปรับสูงขึ้น ราคาหมูย่างต้องปรับราคาตามเช่นเดียวกัน ในขณะที่ยอดจองช่วงตรุษจีนช่วงนี้มีเข้ามาบ้างแล้ว แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถือว่าปีที่แล้วมีจำนวนเยอะกว่า
ทางด้านลูกค้าที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ กล่าวว่า มาเที่ยวจ.ตรัง ตั้งใจจะมาดูว่าหมูขึ้นราคาเขายังขายอยู่หรือไม่ ก็พบว่ายังขายอยู่แต่ราคาปรับขึ้นเยอะ โดยปีที่แล้วตนเองก็มาได้ซื้อในราคากิโลกรัมละ 400 บาท แต่ขณะนี้ขึ้นมามาก แต่ก็ซื้อ เพราะอร่อยและเข้าใจได้ว่าผู้ประกอบการต้องขึ้นราคา เพราะหมูแพง