หมอยง ตอบชัด โควิด-19 จัดเป็น "โรคประจำถิ่น" ได้หรือไม่
"หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ให้ข้อมูลชัดเกี่ยวกับ โควิด-19 จัดเป็น "โรคประจำถิ่น" ได้หรือไม่ หลังยังพบการระบาดอยู่ทั่วโลก
วันที่ 29 มกราคม 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเผยข้อมูล "โควิด-19" กับความหมาย "โรคประจำถิ่น"
หมอยง ระบุว่า คำว่า "โรคประจำถิ่น" ที่จริงมาจาก "endemic" เป็นการที่โรคระบาดที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องที่ เช่น โรคไข้เหลือง เป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา โรคปอดบวมตะวันออกกลาง (MERS) ประจำถิ่นอยู่ในตะวันออกกลาง และถ้าระบาดใหญ่ทั่วโลก ข้ามทวีป ก็เรียกว่า "pandemic"
"โรคโควิด-19" ยังคงระบาดทั่วโลกอยู่แน่นอน ไม่ลดลงมาระบาดอยู่เฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีโอกาศที่จะเกิดเฉพาะถิ่น หรือ ประจำถิ่น
โรคระบาดเราจะมีโรคติดต่อทั่วไป (communicable disease) เช่น หัด คอตีบ และโรคติดต่อ ที่เราพบมาตั้งแต่ในอดีต และสามารถควบคุมได้ด้วยวัคซีน เราก็ไม่เรียกว่า "โรคประจำถิ่น"
โรคติดต่อ มีจำนวนมากมาย ถ้าโรคนั้นมีความร้ายแรง มีความรุนแรง อัตราตายสูง หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศเป็น "โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง" เพื่อการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย และเรายังมี พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อเข้ามาควบคุม โรคนั้นจะอยู่ในบัญชีของพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง
โรค covid-19 ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเราถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โรคนี้จึงอยู่ในบัญชีตามพระราชบัญญัติ เพื่อใช้กฎหมายมาควบคุมดูแล
ถ้าในอนาคต โรค covid-19 มีความรุนแรงน้อยลง และเราต้องอยู่กับโรคนี้เหมือนกับ อยู่กับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ ที่จะมาตามฤดูกาล เราก็ไม่ได้ถึงกับควบคุมดูแลแบบโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง
หมอยง ให้ข้อมูลอีกว่า ดังนั้น "โรคโควิด-19" จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็น "โรคประจำถิ่น" เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น
แต่ถ้าในอนาคต โรคโควิด-19 ความรุนแรงน้อยลง และมีอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาล ไอซียู เสียชีวิต ลดลงอย่างมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน ตัวไวรัสเองลดความรุนแรงลง
และถ้าโรคนี้คล้าย ไข้หวัดใหญ่ ก็จะเรียกว่าโรคโควิด-19 ตามฤดูกาล เช่น จะระบาดมากในฤดูฝน หรือ "โรคติดต่อทั่วไป" โดยที่การดูแลและควบคุม และ กฎเกณฑ์ การรายงาน ควบคุม ดูแลรักษา และป้องกันตามปกติคล้ายโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ไข้หวัดใหญ่
ที่มา Yong Poovorawan