ปี 65 ได้งบ 80 ล้าน! รู้จัก “ราชบัณฑิตยสภา” ก่อนเปลี่ยนชื่อ “Krung Thep”
ทำความรู้จัก “ราชบัณฑิตยสภา” หน่วยงานค้นคว้าทางวิชาการ-บัญญัติศัพท์ภาษาไทย มี “ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์” 7 ราย “หมอประเวศ-มีชัย” ด้วย ปี 65 ได้งบประมาณกว่า 80 ล้าน ก่อนดราม่าเปลี่ยนชื่อ “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon”
กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์สั่นสะเทือนโลกออนไลน์!
กรณีราชบัณฑิตยสภา ประกาศเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ “กรุงเทพมหานคร” จาก “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon” โดยให้เก็บชื่อ Bangkok ไว้ในวงเล็บ (Bangkok) แทน
โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 มีมติเห็นชอบหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (เรื่องที่ 8) เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
โดยมีการยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดนเขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 9 พ.ย. 2544 และให้ใช้ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 1 ก.ย. 2564 รายละเอียดดังนี้ ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง
สาระสำคัญคือ เมืองหลวงของประเทศไทย จาก Bangkok เปลี่ยนเป็น Krung Thep Maha Nakhon โดยชื่อเดิมให้ใส่ในวงเล็บ เขียนได้ดังนี้ Krung Thep Maha Nakhon ; (Bangkok)
สุดท้ายโดนกระแสสังคมถล่มอย่างหนัก ทำให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภา โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมาว่า ชื่อของ “กรุงเทพมหานคร” ยังใช้คำว่า Bangkok ได้เหมือนเดิม
แต่เรื่องนี้ยังคงไม่จบ มีหลายคนกังขาถึงการทำงานของราชบัณฑิตยสภาว่า เหมาะสม คุ้มค่ากับ “เงินภาษี” ที่จ่ายไปหรือไม่
กรุงเทพธุรกิจ พาไปทำความรู้จักสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ดังนี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า สำนักงานแห่งนี้ถูกแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2469 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้จัดตั้ง “ราชบัณฑิตยสภา” ขึ้น ทรงเห็นสมควรฟื้นฟูกิจการของ กรมราชบัณฑิตย์ ซึ่งมีมาแต่โบราณและเป็นตำแหน่งสำหรับทรงตั้งผู้มีความรู้ศาสตราคมไว้รับราชการ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2476 สภาผู้แทนราษฎร ได้ถวายคำปรึกษาแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมควรจัดตั้งราชบัณฑิตยสถานให้มีสมาชิกผู้ประกอบด้วยคุณวิชา สมควรจะได้เลือกตั้งเป็นราชบัณฑิตในภายหน้าเพื่อกระทำการค้นคว้าหาความรู้นำมาเผยแพร่แก่ประชาชนและสร้างตำรับตำราให้แพร่หลายต่อไปจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 และให้ยกเลิกประกาศตั้งราชบัณฑิตยสภา ฉบับลงวันที่ 19 เม.ย. พ.ศ. 2469
เริ่มแรกที่ตั้งราชบัณฑิตยสถานนั้น ยังไม่มีราชบัณฑิต มีแต่ภาคีสมาชิก ซึ่งจัดการประชุมครั้งแรกขึ้น ณ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พุทธศักราช 2477 ภายหลังมีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2485 และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งราชบัณฑิตเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2485 จำนวน 51 คน
งานสำคัญในช่วงแรกเกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กประจำปี ที่ราชบัณฑิตยสถานดำเนินการสืบเนื่องมาตั้งแต่พุทธศักราช 2477 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีงานหลักอีก 5 งาน ได้แก่ งานชำระพจนานุกรม ซึ่งเดิมคืองานชำระปทานุกรมที่รับโอนจากกระทรวงธรรมการมาตั้งแต่พุทธศักราช 2477 งานสารานุกรม งานบัญญัติศัพท์ภาษาไทย งานอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ และงานจัดทำหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน
การดำเนินงานของราชบัณฑิตยสถาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสภาราชบัณฑิต และส่วนข้าราชการประจำ
สภาราชบัณฑิตทำหน้าที่วางนโยบายในการดำเนินงานด้านวิชาการ ประกอบด้วยกรรมการสภา ซึ่งเป็นราชบัณฑิตจาก 3 สำนัก ได้แก่ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม มีนายกราชบัณฑิตยสถาน เป็นนายกสภา อุปนายกราชบัณฑิตยสถานเป็นอุปนายกสภา มีเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานทำหน้าที่เลขานุการสภา และรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการสภา
ส่วนข้าราชการประจำ มีเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เป็นหัวหน้าส่วนราชการ และมีรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ช่วยปฏิบัติราชการ กำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านวิชาการและงานธุรการของสำนักงานเลขานุการกรม กองธรรมศาสตร์และการเมือง กองวิทยาศาสตร์ และกองศิลปกรรม รวมทั้งประสานการดำเนินงานกับทุกสำนัก
การดำเนินงานด้านวิชาการ ดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการวิชาการ เพื่อจัดประชุมพิจารณาศัพท์ บัญญัติศัพท์ จัดทำคำอธิบายศัพท์ในสาขาวิชาต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ทางภาษา แล้วนำผลงานซึ่งเป็นองค์ความรู้เผยแพร่สู่ประชาชนในช่องต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง และมีการรับฟังความความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงการให้การบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในปี 2556 ราชบัณฑิตยสภาโดยสภาราชบัณฑิตเห็นเป็นการสมควรเปลี่ยนชื่อ “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็น “ราชบัณฑิตยสภา” อันเป็นชื่อเดิมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาส 120 ปี พระบรมราชสมภพ รวมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่และการบริหารงานวิชาการของราชบัณฑิตยสภาให้แพร่หลายแก่วงวิชาการของประเทศและประชาชนทั่วไปมากขึ้น
ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ย. 2562 (อัพเดตล่าสุดผ่านเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสภา) ระบุว่า ราชบัณฑิตมีทั้งหมด 3 ประเภท รวม 209 ตำแหน่ง แบ่งเป็น
ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 7 ราย
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
- นายมีชัย ฤชุพันธุ์
- พระพรหมบัณฑิต
- ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล
- ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี
ราชบัณฑิต มีทั้งหมด 118 ตำแหน่ง แบ่งเป็น
- สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 33 ตำแหน่ง มีผู้ดำรงตำแหน่ง 29 ตำแหน่ง
- สำนักวิทยาศาสตร์ 55 ตำแหน่ง มีผู้ดำรงตำแหน่งครบ 55 ตำแหน่ง
- สำนักศิลปกรรม 30 ตำแหน่ง มีผู้ดำรงตำแหน่ง 26 ตำแหน่ง
ภาคีสมาชิก 84 ตำแหน่ง แบ่งเป็น
- สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 34 ตำแหน่ง มีผู้ดำรงตำแหน่ง 32 ตำแหน่ง
- สำนักวิทยาศาสตร์ 23 ตำแหน่ง มีผู้ดำรงตำแหน่ง 19 ตำแหน่ง
- สำนักศิลปกรรม 27 ตำแหน่ง มีผู้ดำรงตำแหน่ง 23 ตำแหน่ง
จากการตรวจสอบข้อมูลตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พบว่า สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้รับงบประมาณรวม 80,799,500 บาท แบ่งเป็น
- แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 66,228,800 บาท
- แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต 14,570,700 บาท
โดยในส่วน เงินงบประมาณในส่วนงบบุคลากร 26,856,800 บาท ในจำนวนนี้เป็น
- เงินเดือน 26,074,000 บาท
- ค่าจ้างประจำ 3,042,200 บาท
- ค่าตอบแทนพนักงานราชการ 782,800 บาท
มีงบดำเนินงาน 60,929,300 บาท ในจำนวนนี้เป็น
- เงินประจำตำแหน่งนายก และอุปนายก 840,000 บาท
- เงินอุปการะราชบัณฑิต 44,550,000 บาท
- เงินอุปการะภาคีสมาชิก 15,300,000 บาท