จุดเริ่มต้นเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอแล้วดำเนินการต่อไป ดังนี้
1.คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงการเขียนชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
2. คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ให้ถูกต้องและชัดเจนเพื่อให้ส่วนราชการนำไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ให้ใช้ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยปรับชื่อ Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon
เพื่อลดกระแสความคิดเห็นของคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยหลั่งไหลกันออกมามากมาย ล่าสุด วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ว่า
“...หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง แล้ว จะอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา ประกอบกับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนดำเนินการต่อไป
ส่วน “กรุงเทพมหานคร” ยังคงใช้คำว่า KrungThep Maha Nakhon หรือ Bangkok ได้เช่นเดิม
Cr.เพจ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงก่อตั้ง ราชบัณฑิตยสภา ขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469 ต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 ยุบราชบัณฑิตยสภาไปจัดตั้งเป็น ราชบัณฑิตยสถาน กับกรมศิลปากร
มีการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ สภาราชบัณฑิต ทำหน้าที่ด้านวิชาการ กับข้าราชการประจำ ทำหน้าที่ด้านธุรการสนับสนุนงานของสภาราชบัณฑิต ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานราชบัณฑิตยสภา และเปลี่ยนชื่อ สภาราชบัณฑิต เป็น ราชบัณฑิตยสภา
Cr.เพจ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรม ไม่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นสถาบันหลักเครือข่ายทางปัญญาแห่งชาติ เป็นองค์การพัฒนาความรู้เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ
โดยมีพันธกิจ ค้นคว้า วิจัย บำรุงสรรพวิชา นำผลงานที่ได้สร้างสรรค์ออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสานงานทางวิชาการกับองค์กรปราชญ์และสถาบันทางวิชาการอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ให้ ความเห็น คำแนะนำ คำปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ให้บริการทางวิชาการแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน หน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานของเอกชนและประชาชน
ดำเนินการจัดทำ พจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ จัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และงานวิชาการอื่น ๆ
กำหนดหลักเกณฑ์ ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทยมิให้เปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม ส่งเสริมภาษาไทยเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น
Cr.เพจ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ราชบัณฑิต [–บันดิด] น. นักปราชญ์หลวง มีความรู้ทางภาษาบาลี เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้ที่มีเกียรติประวัติดีงาม ได้รับการยอมรับยกย่องจากผู้รู้ในศาสตร์สาขาเดียวกันและจากคนทั่วไป มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
ได้รับคัดเลือกจาก สภาราชบัณฑิต ว่าเป็นผู้รู้ในสาขาวิชาใดสาขาหนึ่งที่กำหนดไว้ เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตและจะได้รับค่าสมนาคุณเป็นรายเดือน
ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นราชบัณฑิตต้องเป็น ภาคีสมาชิก ของราชบัณฑิตยสภามาไม่น้อยกว่า 1 ปี และได้แสดงผลงานเป็นที่ประจักษ์จึงจะได้รับการเสนอชื่อให้สภาราชบัณฑิตเห็นชอบ และอยู่ในตำแหน่งจนเสียชีวิตหรือลาออกหรือที่ประชุมฯเห็นควรให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำความเสื่อมเสียร้ายแรง
ในราชบัณฑิตยสภามีด้วยกัน 3 สำนัก กองธรรมศาสตร์และการเมือง, กองวิทยาศาสตร์, กองศิลปกรรม
แต่ละสำนักประกอบด้วยคณะราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 137 สาขา ในราชบัณฑิตสภาแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายราชบัณฑิต มี นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายข้าราชการประจำ มี เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้บริหารสูงสุด
Cr.เพจ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
- สมาชิกราชบัณฑิตยสภา มี 3 ประเภท
1) ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ที่สมัครเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของสำนักใดสำนักหนึ่ง มีจำนวนไม่เกิน 160 คน แบ่งเป็น สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 40 คน สำนักวิทยาศาสตร์ 80 คน สำนักศิลปกรรม 40 คน
2) ราชบัณฑิต ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยราชบัณฑิตจากทุกสำนักจะเป็นผู้คัดเลือกจากภาคีสมาชิก แล้วนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
3) ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยไม่จำกัดจำนวน
Cr.เพจ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
- ดำรงตำแหน่งเปลี่ยนไปทุกสองปี
นายกราชบัณฑิตยสภาและอุปนายกราชบัณฑิตยสภา มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสองปี เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 นายกราชบัณฑิตยสภาและอุปนายกราชบัณฑิตยสภาเดิมจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 11 เมษายน 2564 จึงได้พิจารณาคัดเลือกราชบัณฑิตแต่งตั้งเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาและอุปนายกราชบัณฑิตยสภารวม 3 รายดังนี้
1.ศาสตราจารย์กิตติคุณสุรพล วิรุฬห์รักษ์ เป็น นายกราชบัณฑิตยสภา
2.ศาสตราจารย์ไผทชิต เอกจริยกร เป็น อุปนายกราชบัณฑิตยสภาคนที่ 1
3.ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร เป็น อุปนายกราชบัณฑิตยสภาคนที่ 2
โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตามที่เสนอ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
Cr.เพจ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
จากข้อมูลในอดีต วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562 มี ราชบัณฑิต ทั้งหมด 118 ตำแหน่ง มี ภาคีสมาชิก มีทั้งหมด 84 ตำแหน่ง มี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 7 คน ได้แก่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต), มีชัย ฤชุพันธุ์, พระพรหมบัณฑิต, ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล, ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี
ที่ผ่านมา ราชบัณฑิตยสภา หรือ ราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดทํา พจนานุกรม ฉบับล่าสุด พ.ศ. 2542 เป็นเวลา 16 ปีมาแล้ว