"ภาษีที่ดิน" ปี 65 อัพเดทล่าสุดอัตราจัดเก็บ - มีอะไรบ้างได้รับการยกเว้นภาษี

"ภาษีที่ดิน" ปี 65 อัพเดทล่าสุดอัตราจัดเก็บ - มีอะไรบ้างได้รับการยกเว้นภาษี

เช็คที่นี่ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 อัพเดทล่าสุดอัตราจัดเก็บ - มีอะไรบ้างเงื่อนไขที่ได้รับการยกเว้นภาษี

วันที่ 3 มีนาคม 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีการแชร์ข้อมูลคลาดเคลื่อนในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับอัตรา ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง และการจัดเก็บภาษี จึงต้องขอแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่ารัฐบาลได้ประกาศคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2565-2566 ในอัตราเช่นเดียวกับปี 2563-2564 แต่ไม่มีการปรับลดการจัดเก็บลง 90% เหมือนที่ผ่านมา

 

 

โดยในปีนี้ ผู้เสียภาษียังคงได้รับการบรรเทาภาระภาษีในหลายกรณี อาทิ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมจะได้รับยกเว้นภาษี
 

ทั้งนี้ การจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 เมื่อคำนวณได้เท่าไรจะต้องจ่ายเต็มจำนวน เนื่องจากกระทรวงการคลังมองว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้หลักที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น ซึ่งจากที่มีการลดภาษีที่ดินฯ ลง 90% ในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และขาดรายได้ไปพัฒนาพื้นที่

 

น.ส.รัชดา กล่าวต่ออีกว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ต้องประกาศอัตราภาษีที่จะใช้จัดเก็บในปี 2565 เนื่องจากอัตราภาษีเดิมที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะปี 2563-2564 แต่ด้วยความเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลจึงคงอัตราภาษีที่ดินฯแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563-2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กับผู้เสียภาษี และเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง

 

 

ทั้งนี้ในปี 2565 นี้ ผู้เสียภาษียังคงได้รับการบรรเทาภาระภาษีหลายกรณี ได้แก่

 

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมได้รับยกเว้นภาษี

 

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท

 

  • กรณีที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือไม่เกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท หรือเกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะเสียภาษีเต็มอัตราเฉพาะส่วนที่เกินเท่านั้น

 

  • การผ่อนปรนภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีกรณีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงกว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่เคยชำระในปี 2562 จะบรรเทาภาระให้โดยเสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกกับ 75% ของส่วนต่างค่าภาษีปี 2565 กับปี 2562

 

สำหรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน กำหนดครอบคลุมที่ดิน 4 ประเภท มีดังนี้

 

1.ที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.01-0.1%

 

2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.02-0.1% แยกเป็น

 

  • ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.03-0.1%

 

  • สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.02-0.1%

 

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจาก 2 ข้อข้างต้น มีอัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.02-0.1%

 

  • การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 หรือที่ดินกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.3-0.7%

 

4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ยกเว้น มีกฎหมายห้ามหรือทิ้งไว้เพื่อการเกษตรหรือปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.3-0.7%

 

ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง