5 มีนาคม "วันนักข่าว" กับคำถามถึงจริยธรรมสื่อไทยในปัจจุบัน
การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน ยังสอดคล้องกับจริยธรรมสื่อมวลชนและบรรทัดฐานอยู่หรือไม่ ? เนื่องใน "วันนักข่าว" 5 มีนาคม ชวนสำรวจฉากทัศน์ในแง่มุมนี้อีกครั้ง
วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปีถือเป็น “วันนักข่าว” หรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498
โดยหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในเวลานั้น จะมีประเพณีที่ทราบกันระหว่างสำนักข่าวกับผู้อ่านว่า วันที่ 6 มีนาคมของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของนักหนังสือพิมพ์
แต่ก็ยังมีหนังสือพิมพ์บางฉบับแอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนในฐานะผู้อ่านเกิดความตื่นตัว และมีความต้องการที่จะบริโภคข่าวสารมากขึ้น ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป
แม้สื่อมวลชนจะมีสิทธิเสรีภาพในการทำข่าว ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 45 แต่แน่นอนว่าการบวนการทำงานของสื่อมวลชน จำเป็นจะต้องมีหลักจริยธรรมและบรรทัดฐานเพื่อเป็นกรอบในการนำเสนอข่าว เพื่อส่งต่อข้อมูลข่าวสารไปยังผู้รับสารหรือประชาชนได้อย่างเป็นกลางและมีคุณภาพ
ที่สำคัญคือ สื่อมวลชนไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะในการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล หรือวิพากษ์วิจารณ์ตามความต้องการ โดยไม่มีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่นได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่สื่อภายใต้หลักการและจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
แล้วจรรยาบรรณและจริยธรรมสื่อ คืออะไร? ตีความได้ในมิติใดบ้าง?
คำว่า “จริยธรรม” หมายถึง ความเชื่อ ค่านิยม และหลักศีลธรรม ซึ่งแต่ละสังคมกำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการตัดสินว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ทั้งนี้ หมายถึง แนวทางปฏิบัติของบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนที่สังคมเรียกร้องความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมสูง
การรายงานข่าวที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น ถึงแม้บางเหตุการณ์จะมีคุณค่าข่าวที่ควรนำเสนอ แต่ข่าวก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่นทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ เช่น การเขียนพาดหัวข่าว เนื้อข่าว หรือการใช้ภาพประกอบข่าวที่อาจสร้างความเจ็บปวดซ้ำๆ แก่ผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นข่าวได้
หลายครั้งที่สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์ และมีเสียงเรียกร้องให้ใช้จิตสำนึกชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคล นักข่าวจึงต้องใช้วิจารณญาณในการรายงานข่าวด้วย
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สื่อถูกตั้งคำถามจากสังคมหลายต่อหลายครั้ง ถึงการนำเสนอข่าวว่ามีความเหมาะสมและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวนั้น รวมถึงความผิดพลาดและความไม่รอบคอบในการที่รีบนำเสนอข่าวมากเกินไปจนไม่ได้คำนึงถึงสารที่ได้รับมาว่าเป็นความจริงหรือไม่ จนทำให้บ่อยครั้งที่มีการนำเสนอข่าวที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง
สำหรับ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้มุมมองว่า ในเรื่องของจริยธรรมสื่อนั้น ปัญหาหลักการคือการอยู่รอดของธุรกิจสื่อ ที่จำเป็นต้องหารายได้ ต้องการสปอนเซอร์ ทำให้ต้องพยายามขายทุกอย่างที่สามารถทำรายได้ได้ แม้ว่าในหลายครั้งก็อาจจะละเมิดหรือหมิ่นเหม่กับจริยธรรมสื่อ
"บางครั้งคนทำงานจำนวนหนึ่งก็อาจจะไม่เห็นด้วย แต่เพื่อความอยู่รอดก็ต้องทำเพื่อองค์กร เช่น ยอดวิว เรตติ้ง เป็นต้น นอกจากนี้สมาคมนักข่าวฯ อาจมีบทบาทแค่การวางกรอบกติกา การปฏิบัติขึ้นอยู่กับคนทำงานว่าจะตระหนักมากน้อยแค่ไหน แต่สภาพแวดล้อมการทำงานก็อาจบีบให้ทำข่าวเพื่อเรียกยอด"
นอกจากนี้กระแสความสนใจของผู้บริโภคข่าว (คนดู/คนอ่าน) ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สื่อต้องเลือกเสนอข่าว เพราะผู้เสพข่าวเป็นผู้กำหนดประเด็นที่สนใจมากกว่าองค์กรสื่อ และจริยธรรมสื่อก็ไม่ใช่กฎหมาย ไม่สามารถเอาผิดนักข่าวที่ทำผิดจริยธรรมได้
"แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสังคมเป็นผู้ชี้นำด้วย อย่างเช่นกรณีของนักแสดงที่เสียชีวิต เช่น ปอ ทฤษฎี ในช่วงนั้นสังคมยังไม่ได้บีบสื่อเรื่องการนำเสนอภาพศพมากนัก ทำให้ยังมีภาพศพหลุดออกมาอยู่บ้าง แต่ในปัจจุบันสำหรับกรณีของ แตงโม นิดา สังคมเริ่มตื่นตัวและตระหนักถึงสิทธิของผู้ตายมากขึ้น มีการกดดันสื่อว่าอย่านำเสนอภาพผู้เสียชีวิต ก็ทำให้สื่อไม่ได้นำเสนอจริง ๆ และเน้นไปนำเสนอเรื่องคดีความมากกว่า" ดร.มานะ กล่าวทิ้งท้าย