จริยธรรม(สื่อ)หล่นหาย ใครต้องรับผิดชอบ?
ระหว่างความนิยมกับความรับผิดชอบต่อสังคม ภาวะไร้สมดุลในสื่อยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น
ดูเหมือนว่า ช่วงเวลานี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สื่อมวลชนกำลังถูกท้าทายอย่างหนักทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในโอกาสวันนักข่าว 5 มีนาคม ‘จุดประกาย’ ขอร่วมทบทวนการทำงานของสื่อไทย ขีดเส้นใต้ตรง ‘การรายงานข่าวในภาวะวิกฤติ’ ซึ่งมีกรณีศึกษาตั้งแต่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เหตุสะเทือนขวัญกราดยิงโคราช มาจนถึงสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ซึ่งสื่อมักถูกครหาว่า ‘ไร้จรรยาบรรณ’ ทิ้งผลกระทบไว้มากมายจากการทำงานที่มุ่งหวังแค่ยอดไลค์ ยอดแชร์ และเรตติ้ง
ใครคือสื่อ สื่อคือใคร
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร ธุรกิจสื่อเองก็ตกอยู่ในมรสุมแห่งดิจิทัลดิสรัปชั่นเช่นเดียวกัน และยังคงได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องล้มหายตายจาก ทีวีดิจิทัลก็แทบจะเอาตัวไม่รอด สมรภูมิหลักจึงมาอยู่ที่การช่วงชิงพื้นที่บนโลกออนไลน์ และจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็เกิดขึ้นเมื่อ...ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟน ส่งผลให้การนิยามความเป็นสื่อ ‘คลุมเครือ’ พอๆ กับประเภทของข่าวสาร ที่ปะปนกันไปทั้ง ‘ข่าวจริง‘ จากสื่อหลัก, 'ข่าวลวง' จากสื่อปลอม, ‘ข่าวคลิกเบต’ จากสื่อออนไลน์, ‘ข่าวปั่นกระแส’ จากสื่อจริง รวมถึง ‘ข่าวปล่อย’ จากสื่อ IO
“สื่อเกิดขึ้นหลายประเภท ทั้งสื่อโดยวิชาชีพจริงๆ สื่อที่ประชาชนทำขึ้นด้วยความสนุกสนานหรือโอกาสที่จะใช้โซเชียลในการสื่อสารบางอย่าง และสื่อที่มีวาระเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นวาระการค้าหรือวาระเพื่อผลทางการเมือง แยกออกมาให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าในส่วนของสื่ออาชีพเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพ ส่วนอีกสองประเภทมีบางส่วนที่เป็นสื่อที่มีวาระทางธุรกิจและการเมือง นี่คือตัวปัญหาที่เรายังไม่สามารถจัดการอะไรโดยตรงได้ ทำได้แค่สร้างความตระหนักรู้และรู้เท่าทันให้กับสังคม” มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พูดถึงข้อจำกัดในการกำกับดูแลสื่อ ที่นอกจากคนทำสื่อจะต้องมีความมืออาชีพแล้ว ผู้รับสารเองก็ต้องเท่าทันด้วย
เขายกตัวอย่างกรณีกราดยิงที่โคราช ซึ่งสื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า "มันอยู่คาบเกี่ยวระหว่างสื่อออนไลน์กับสื่อทีวี ซึ่งตอนนี้ยังเป็นข้อถกเถียง ในส่วนของสื่อทีวีมันชัดเจนว่าอยู่ในการควบคุมกำกับดูแลของ กสทช. แต่สื่อออนไลน์ยังเถียงกันอยู่ว่าองค์กรไหนจะสามารถกำกับดูแลได้ เพราะว่ามันมีทั้งออนไลน์แบบสังกัดสำนักข่าวและแบบอิสระที่ไม่สังกัด”
สำหรับประเด็นหลักๆ ที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายและต้องรีบหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก็คือ การไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ ซึ่งเป็นการรายงานข่าวแบบเรียลไทม์ นายกสมาคมนักข่าวฯ มองว่า สถานการณ์ในตอนนั้นจะโทษสื่อเสียทั้งหมดหรือไม่โทษเลยก็ไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นและหาทางป้องกัน
“ถ้าหากว่าทางรัฐหรือทางเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเขาหยิบยกเอาบทเรียนของกรณีถ้ำหลวง ซึ่งใช้วิธีการปิดกั้นสถานที่ มีการกำหนดกฎระเบียบ มีผู้บัญชาการในพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์ข่าวที่จะอัพเดตสถานการณ์อยู่ที่เดียวเพื่อความเท่าเทียมกัน ทั้งลดข่าวปลอมที่พร้อมจะทำงานอยู่เสมอ สถานการณ์จะไม่บานปลายอย่างที่ปรากฎ”
มงคล บางประภา
เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มองว่านอกจากสื่อหลัก ยุคนี้ยังมีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย หลายสื่อไม่ได้ขึ้นกับสถานีโทรทัศน์ หรือสำนักข่าวใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นสื่อใหญ่ก็ต้องดูแล เป็นภาพลักษณ์ของตัวองค์กรสื่อ
"แต่ถ้าเป็นสื่อที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจอันนี้เราคุมไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือคงคุณภาพความเป็นสื่อมืออาชีพ วันนี้ในอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนไปต้องชั่งน้ำหนักจริยธรรมกับเรตติ้งให้ดี ถ้าให้ความสำคัญกับเรตติ้งก็ต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมาว่าประชาชนจะเชื่อมั่นในความเป็นสื่อน้อยลง"
อาจารย์ยังบอกอีกว่า ปัญหาจากดิจิทัลดิสรัปชั่นที่มากระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อ ทำให้สื่อไขว้เขวเพราะว่ามีสื่อใหม่เกิดขึ้นเยอะ นักข่าวมากประสบการณ์ก็ออกจากงานไปเยอะ และมีนักข่าวหน้าใหม่ที่ยังน้อยประสบการณ์อีกเยอะ ดังนั้นการจะให้ทุกคนมีประสบการณ์ด้านจริยธรรมเท่ากันยังเป็นเรื่องยาก
“สมัยนี้คนที่มาทำสื่อไม่จำเป็นต้องเรียนนิเทศฯวารสารฯ เพราะฉะนั้นหลักจริยธรรมจรรยาบรรณที่สอนกันในสถาบันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำสื่อแต่ไม่ได้ผ่านการเรียนเรื่องพวกนี้มาก่อน เขาทำงานไปพร้อมๆ กับเจออุปสรรค แต่เราก็ไม่ควรปล่อยไว้อย่างนั้น ตอนนี้คำถามใหญ่ๆ จะถูกโยนไปที่องค์กรสื่อทั้งหลายว่า คุณใช้งานนักข่าวเพื่อที่จะมุ่งสู่การแข่งขันอย่างเดียว แล้วคำนึงถึงผลกระทบจากการขาดจริยธรรมไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจหรือเปล่า ซึ่งมันต้องแข่งกันด้วยความเร็ว” ดร.มานะ ทิ้งคำถามไว้ให้คิด
ชกเรตติ้ง ชิงพื้นที่ออนไลน์
ยุคที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดเช่นนี้ แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือความเร็วและการช่วงชิงพื้นที่การรับรู้ของผู้รับสาร นั่นจึงเป็นเหตุผลให้สื่อหลายๆ สำนักทุ่มเทความสนใจไปที่พฤติกรรมของผู้บริโภคหรือผู้เสพสื่อจนละเลยกรอบจริยธรรมของตนเอง
“ลำพังเทคโนโลยีไม่ผิด มันมีการพัฒนาขึ้นไปอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติในการนำมาใช้กับสื่อ เพียงแต่ว่าคนทำงานสื่อต่างหากที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้แบบไหน ขึ้นอยู่กับเรื่องกรอบจริยธรรมด้วย ความเร็วจึงเป็นดาบสองคม แต่มันไม่ใช่ข้ออ้างว่าเป็นเพราะความเร็วทำให้พลาด แต่เป็นเพราะว่าการที่ไม่ตระหนักถึงเรื่องของจริยธรรมต่างหาก ทำให้ความเร็วนั้นกลายเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการผิดพลาดเกิดขึ้น” ดร.มานะ แสดงความเห็น
หลังผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ แม้จะเห็นเวทีถอดบทเรียนการทำงานของสื่ออยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการทำความเข้าใจร่วมกัน หรือเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เพื่อว่าหากเกิดเหตุเช่นนั้นอีกจะได้ลดข้อผิดพลาดลง หรือมีมาตรการกำกับดูแลที่ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวจนเกินไป แต่ถึงที่สุดหากผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรสื่อยังมองเรตติ้งสำคัญกว่าหลักจริยธรรม ปัญหาก็จะวนเวียนซ้ำซากเหมือนเดิม
“ตราบใดที่เจ้าของและกองบรรณาธิการยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะสื่อหลักที่มีองค์กรกำกับดูแลอย่างวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ซึ่ง กสทช. ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจังเป็นเหมือนเสือกระดาษ ก็ยิ่งทำให้สื่อไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมมากพอ”
เช่นนั้นหลักจริยธรรมในตำราเรียนของคนข่าวยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ดร.มานะ ยืนยันว่าในตำราเรียนเรื่องหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้ว ซึ่งก็ยังใช้ได้ แต่ขึ้นอยู่ว่าเมื่อนำมาปฏิบัติจริงได้หยิบกรอบจริยธรรมมาใช้หรือเปล่า เพราะตำราเรียนก็หยิบเอากรอบจริยธรรมต่างๆ ที่สื่อมวลชนมืออาชีพเป็นคนร่างเอาไว้นำมาสอนอีกทอดหนึ่ง ทว่าในสถานการณ์ของสื่อใหม่ ทุกคนมีประสบการณ์เท่ากับศูนย์ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันเตือนช่วยกันเรียนรู้ ด้วยการให้ตระหนักถึงภัยอันตราย
ภาพจากเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช
สังคมต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ทุกครั้งเมื่อสังคมเกิดข้อกังขาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ในฐานะองค์กรวิชาชีพคือด่านแรกที่ถูกตั้งคำถาม มงคล ย้ำว่าสมาคมนักข่าวไม่ใช่องค์กรควบคุมด้านจริยธรรม แต่มีหน้าที่หนึ่งในการพูดถึงการส่งเสริมจริยธรรม
“การควบคุมจริยธรรมเป็นหน้าที่ของสภาวิชาชีพ ซึ่งมีทั้งสภาการหนังสือพิมพ์กับสภาวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ ในส่วนของการส่งเสริมจริยธรรม สมาคมนักนักข่าวก็มีการเฝ้าระวังและแถลงการณ์ รวมถึงให้ข่าวคอยเตือนสื่อมวลชนเท่านั้น”
ทั้งนี้ ดร.มานะ กล่าวเพิ่มเติมว่าการรายงานข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉินนักข่าวต้องมีสติ ขณะที่บรรณาธิการก็ต้องคอยกรองการทำงานของนักข่าวภาคสนามด้วย “เจ้าของสื่อหรือกองบรรณาธิการจะต้องเป็นตัวหลักในการพยายามที่จะทำให้ข่าวนั้นเดินตามกรอบจริยธรรม เพราะว่าลำพังนักข่าวที่อยู่ในพื้นที่อย่างเดียว บางทีเจอกับสถานการณ์หลายอย่าง การรายงานข่าวอาจจะหมิ่นเหม่กับเรื่องจริยธรรม”
ยกตัวอย่างเช่น กรณีกราดยิงโคราช ซึ่งนักข่าวภาคสนามจากหลายสำนักถูกโจมตีอย่างหนักว่าสร้างปัญหาให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ก็ถือเป็นกระจกบานหนึ่งที่สะท้อนการทำงานของสื่อในภาวะวิกฤติได้เป็นอย่างดี โดยหลังจากเหตุการณ์ยุติลง กสทช. อาศัยอำนาจแห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้มีมติสั่งปรับทีวีดิจิทัล 3 ช่อง (ไทยรัฐ, อมรินทร์ และ ONE 31) อันเนื่องมาจากการรายงานข่าวนั้นกระทบต่อจิตใจของประชาชนและรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงกรณีสำนักข่าวออนไลน์อย่างเพจ ‘อีจัน’ ที่ลงโทษตัวเองด้วยการปิดเพจเป็นเวลา 5 วัน และลงโทษทีมข่าวเป็นการภายใน เพื่อให้ทบทวนถึงการายงานข่าวบนความรับผิดชอบต่อสังคม
ภาพข้อความบางส่วนจากเพจเฟซบุ๊ค อีจัน ที่ประกาศปิดเพจเพื่อลงโทษตัวเอง
ถึงอย่างนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่ามุมกลับของข่าวที่ถูกนำเสนออย่างหมิ่นเหม่หรือผิดหลักจริยธรรมนั้นมักแลกมาด้วยเรตติ้งที่สูงลิ่ว สื่อที่พยายามยึดโยงหลักการทางวิชาชีพจึงต้องชั่งใจอย่างหนัก และอาจจะต้องยอมรับว่า หากหลีกเลี่ยงไม่รายงานในประเด็นที่สังคมสนใจแต่ส่งผลกระทบในด้านลบแล้วจะต้องเสียเรตติ้ง ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งเรื่องนี้สังคมคงต้องช่วยหนุนเสริม รัฐควรเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน เพื่อให้สื่อที่ยึดหลักจรรยาบรรณสามารถดำรงวิชาชีพอยู่ได้
“หากจะหวังผลว่าทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้สำเร็จก็คงยาก ในสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสื่อที่ยังไม่ดีขึ้น เอเจนซี่สื่อก็ยังไม่ขยับให้เห็นว่าจริยธรรมสำคัญกว่าเรตติ้ง สมาคมนักข่าวก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล ซึ่งก็ทำอยู่อย่างเช่นการเปิดรับนักข่าวออนไลน์ การสร้างความตระหนักในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ การแอนตี้เฟกนิวส์ ก็เป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วและเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับสมาคม”
ทางออกที่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่นายกสมาคมฯ แนะนำคือ ไม่ว่าจะ NGO ที่จับจ้องมองสื่อ นักวิชาการ หรือภาคธุรกิจเอง ควรหันมาตระหนักว่าการที่เอเจนซี่เลือกสนับสนุนสื่อโดยคำนึงถึงเรตติ้งอย่างเดียว นั่นเท่ากับว่ากำลังมีส่วนส่งเสริมหรือทำร้ายสังคม ในทางกลับกันอยากจะรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภัยร้ายของเฟกนิวส์ การรายงานข่าวที่ไร้จริยธรรม แล้วอย่าโทษเฉพาะสื่อนั้นๆ แต่ให้ดูไปจนถึงว่า มีสปอนเซอร์ที่สนับสนุนสื่อนั้นหรือไม่
แรงกดดันจากสังคมจึงสำคัญ ถ้าสังคมแอนตี้สินค้าของสปอนเซอร์ที่ไปสนับสนุนสื่อที่สร้างปัญหาได้ นั่นคือ ‘พลังของผู้บริโภค’