กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปิดโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ
ในหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เสด็จแทนพระองค์ ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยอดพระเกตุมาลาองค์พระประธานประจำวิหาร บรรจุอัฐิธาตุหลวงตาฯ ในรัตนเจดีย์ และเปิดโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) อ. เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกตุมาลาพระประธานประจำวิหาร และทรงเชิญอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ในรัตนเจดีย์ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกทองคำภายในเจดีย์ กับทรงเปิดโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) เมื่อวันที่5 มี.ค.65 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคลฯ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
โอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ เฝ้ารับเสด็จ ในการนี้ เสด็จไปยังวิหาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระประธานประจำวิหาร ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกแด่พระสงฆ์ ทรงสรงพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระเกตุมาลาพระประธานประจำวิหาร ซึ่งได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีว่า “ พระพุทธวิสุทธิมงคลศาสดา เจ้าฟ้าจุฬาภรณนฤมิต” อันมีความหมายว่า "พระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดา ทรงประกอบด้วยมงคลอันบริสุทธิ์
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีทรงสร้าง” ซึ่งมีพุทธลักษณะปางมารวิชัย เนื้อโลหะทองแดงบรอนซ์ลงรักปิดทองโบราณ ขนาดหน้าตักกว้าง 224 ซม. ความสูงจากองค์พระถึงพระเกตุ 329 ซม. น้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม ยกฐาน 3 ชั้น ฐานพระกว้าง 308 ซม. สูง 179 ซม. ประดับอักษรพระนาม “จภ” ที่ผ้าทิพย์ ออกแบบโดย ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม)
ภายในวิหารยังมีรูปหล่อพระอริยสงฆ์ ผู้เป็นบูรพาจารย์ของประเทศ ซึ่งประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าพระประธานบนฐานชุกชีหินอ่อน ได้แก่ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จากนั้น ทรงสรงอัฐิธาตุหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อเชิญไปประดิษฐานในรัตนเจดีย์ที่ประดับด้วยเพชรพลอยบนบุษบกทองคำภายในเจดีย์
โอกาสนี้ พระราชวชิรธรรมาจารย์ (สุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) และ พระราชภาวนาวชิรากร (อินทร์ถวาย สันตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดอุดมมงคลวนาราม (วัดป่านาคำน้อย) อ.นายูง จ.อุดรธานี ถวายของที่ระลึก พร้อมกันนี้ พระราชภาวนาวชิรากร ผู้แทนคณะศิษยานุศิษย์ ถวายทองคำแท่ง น้ำหนักแท่งละ 12.5 กิโลกรัม จำนวน 2 แท่งเพื่อพระราชทาน แก่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นำเข้าคลังหลวงเพื่อเป็นการสืบต่อโครงการช่วยชาติขององค์หลวงตาพระมหาบัวฯ ต่อไป
ต่อจากนั้น ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคลซึ่งประดิษฐานที่บุษบกภายในเจดีย์โดยอยู่ที่ระดับความสูง 9 เมตร 60 เซนติเมตร โดยเจดีย์นี้ สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมศิลปะล้านช้าง มีความสูง 61 เมตร 58 เซนติเมตร
ส่วนที่ระดับความสูง 33.20 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา 4 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปพิงค์โกลด์ และพระพุทธรูปแก้วสารพัดนึก (หินจุยเจีย) พระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และอัฐิธาตุหลวงตาพระมหาบัวฯ ในส่วนของศีรษะและฟัน รวมถึงเครื่องสูงอื่นๆ ส่วนที่ชั้นความสูง 22 เมตร ได้ประดิษฐานอัฐิธาตุองค์หลวงตา และพุทธมงคลอื่นๆ ส่วนยอดเจดีย์มีลักษณะเป็นฉัตร 5 ชั้น ยอดฉัตรบนสุดเป็นทองคำ น้ำหนัก 86.2 กิโลกรัม ฉัตรชั้นที่ 1 น้ำหนัก 99.4 กิโลกรัม เริ่มจากฐานฉัตรชั้นที่ 2 ถึงปลียอดแปดเหลี่ยมเคลือบทองคำด้วยวิธีเปียกทองโบราณ
ต่อจากนั้น เสด็จไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคลฯ ทรงเปิดโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรม วิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)” อย่างเป็นทางการ
สำหรับโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคลฯ จัดสร้างขึ้นบนพื้นที่รวม 181 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนอาคารและภูมิทัศน์ 38 ไร่ ประกอบด้วย 3 อาคาร คือ พิพิธภัณฑ์ วิหาร เจดีย์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์
สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานที่ยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง อีกทั้งมีแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมให้ทั้ง 3 อาคาร ตั้งเป็นแนวเดียวกับจิตกาธานสถานที่ ที่พระราชทานเพลิงศพสรีระสังขารหลวงตาพระมหาบัว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2554 และเป็นแนวชี้ตรงไปถึงเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย
สื่อความหมายว่า ศาสนพิธี หรือ สังฆกรรม ณ สถานที่แห่งนี้มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ทรงร่วมรับรู้ในพิธีนั้น รวมถึงพุทธศาสนิกชนที่เข้ามากราบสักการะอัฐิธาตุหลวงตาพระมหาบัวฯ ที่เจดีย์ ยังได้มีโอกาสกราบจิตกาธานหลวงตาฯ และพระบรมศาสดาไปในคราวเดียวกัน
ส่วนพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการสื่อผสมผสานมัลติมีเดีย จำนวน 6 ห้อง ถ่ายทอดอัตชีวประวัติองค์หลวงตาพระมหาบัวฯ ตั้งแต่กำเนิดจนกระทั่งละสังขาร รวมถึงข้อวัตรปฏิบัติธรรรมเทศนา และคติธรรมคำสอนที่หลวงตาฯ มอบไว้เป็นมรดกธรรม และเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่อนุชนรุ่นหลัง ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) รอบแรกเวลา 09.30 น. รอบสุดท้ายเวลา 14.30 น.
โอกาสนี้ ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ซึ่งได้รับมอบจากวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ และความเจริญรุ่งเรืองต่อไป
พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน พระเถระสายพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งของประเทศ ที่มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ให้ความเลื่อมใสในธรรมะคำสอน และการดำรงตนในสมณเพศ ด้วยเป็นผู้มีเมตตาบารมีเปี่ยมล้น กับการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก และเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ครั้งหนึ่งใช้ธรรมะช่วยเหลือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อ พ.ศ. 2540 ริ่เริ่มโครงการช่วยชาติ ภายใต้ชื่อ "โครงการผ้าป่าช่วยชาติ” โดยระดมทองคำและเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเข้าคลังหลวง เพื่อใช้เป็นทุนสำรองของประเทศในขณะนั้น
เมื่อท่านละสังขารไป วันที่ 30 มกราคม 2554 บรรดาศิษยานุศิษย์ และผู้เลื่อมใสศรัทธาทั้งหลาย ไม่เพียงน้อมนำในอรรถธรรมคำสอนญาณสัมปันโน พระอริยสงฆ์ผู้ถึงพร้อมด้วยญาณอันบริสุทธิ์ ด้วยการสร้างอนุสรณ์สถาน เพื่อเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และอัฐิธาตุขององค์หลวงตา รวมทั้งเป็นสถานที่เผยแผ่ธรรมเทศนา ปฏิปทา คติธรรมคำสอน และเก็บรักษาหนังสือธรรมมะ ตลอดจนเครื่องอัฐบริขารขององค์หลวงตา เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ได้รำลึกถึงคุณูปการ ทั้งทางโลกและทางธรรม
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสืบสานพระศาสนาด้วยพระศรัทธาที่มั่นคง โดยเฉพาะเมื่อได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังวัดป่าบ้านตาดในหลายโอกาส ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในหลักคำสอนของหลวงตาพระมหาบัวฯ เป็นอย่างสูง ทรงปวารณาพระองค์เป็นศิษย์และบุตรบุญธรรม อีกทั้งทรงยึดมั่นพระธรรมคำสอนของหลวงตา เป็นหลักสำคัญในการทรงงานเพื่อปวงชนชาวไทยตลอดมา ทั้งนี้ ทรงพระกรุณารับเป็นประธานโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ โดยโปรดให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเป็นประธานคณะผู้ออกแบบก่อสร้างการดำเนินงาน ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ตลอดจนงานมัณฑนศิลป์และจัดระเบียบภูมิทัศน์โดยรอบ
การดำเนินงานโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคลฯ มีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยความร่วมมือของคณะทำงานฝ่ายต่างๆ จากทุกภาคส่วน อาทิ จังหวัดอุดรธานี วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และคณะศิษยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ทั้งบรรพชิตและฆราวาส มีบทบาทในการดำเนินงานตามขอบเขตหน้าที่
จนบังเกิดเป็นผลสำเร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานสำคัญแด่หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติธรรม และทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนา ประเทศชาติ และในฐานะที่เป็น “ถูปารหบุคคล” หรือบุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูป หรือ เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุไว้สักการะบูชาคุณงามความดีของ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ให้คงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน