ผู้ประกอบการไทยขนส่งทุเรียน-มะพร้าว ทางรถไฟไปจีนครั้งแรก
ผู้ประกอบการไทย ส่งออกผลผลิตทางการเกษตร ทุเรียนและมะพร้าว เที่ยวปฐมฤกษ์โดยทางรถไฟจากไทย ไปจีน ใช้ระยะเวลาในการขนส่ง เพียง 5 วันเท่านั้น ขณะที่กรมศุลกากร เร่งปรับแก้ระเบียบ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน และต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 65 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า มาเป็นผลิตผลทางการเกษตร จำนวน 3 ตู้คอนเทรนเนอร์ แยกเป็นทุเรียน 2 ตู้คอนเทรนเนอร์ น้ำหนัก รวม 40 ตัน และมะพร้าว 1 ตู้คนเทรนเนอร์ น้ำหนัก รวม 20 ตัน ที่ต้นทางจากภาคตะวันออก จากสถานีมาบตาพุด จ.ระยอง ได้เดินทางมาถึงสถานีหนองคาย เพื่อจะส่งต่อข้ามไป สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว และขนส่งต่อไปยังปลายทางที่ประเทศจีน ซึ่งถือเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ ในการขนส่งผลไม้ไปจีน ที่ใช้การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว โดยมี นายวุฒิ เร่งประดุงทองนายด่านศุลกากรหนองคาย พร้อมเจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคายเจ้าหน้าที่การรถไฟ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชหนองคาย และตัวแทนของบริษัท เก้าเจริญเทรนทรานสปอร์ต จำกัด ได้ร่วมกันตรวจสอบและปฏิบัติตามขั้นตอน ก่อนจะขนส่งต่อไปสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ต่อไป
นายวุฒิ เร่งประดุงทอง นายด่านศุลกากรหนองคาย กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ บริษัท เก้าเจริญเทรนทรานสปอร์ต จำกัด ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรจากไทยไปจีน โดยใช้ทางรถไฟจากไทยผ่าน สปป.ลาว ก่อนจะเปลี่ยนแคร่ จากรางขนาด 1 เมตร เป็นรางขนาด 1.435 เมตร จากนั้นก็ส่งผ่านด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) ก่อนจะขนถ่ายอีกครั้งเนื่องจากด่านรถไฟบ่อหาน ยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่ทุกฝ่าย กำลังเร่งให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด
นายด่านศุลกากรหนองคาย ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนการเตรียมพร้อมของกรมศุลกากร นั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งการให้ด่านศุลกากรหนองคาย ได้แก้ไขปัญหาที่ติดขัดทั้งหมด ซึ่งด่านศุลกากรหนองคาย ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาส่งให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีการแก้ไขกฎกระทรวง เช่นจากเดิมที่ด่านรถไฟหนองคาย เป็นเพียงด่านพรมแดน การตรวจปล่อยสินค้าต้องมีการขนถ่ายตู้คอนเทรนเนอร์ขึ้น-ลง เพื่อนำไปตรวจที่ด่านศุลกากรหนองคาย ที่อยู่ห่างประมาณ 3 กม. แล้วค่อยนำกลับมายกกลับขึ้นแคร่ ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อธิบดีกรมศุลกากรต้องการลดขั้นตอนและต้นทุนตรงจุดนี้ ที่เป็นการส่งออกสินค้า จึงได้มอบหมายให้ด่านศุลกากรหนองคาย เข้ามาดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ที่ด่านสถานีหนองคายเลย ซึ่งในช่วงแรกที่ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการดำเนินการ ก็จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการเป็นหลักก่อน ทั้งการตรวจปล่อยสินค้า ขาเข้า ขาออก และสินค้าผ่านแดน โดยที่ไม่ให้เกิดต้นทุนกับผู้ประกอบการ และเป็นการส่งเสริมการส่งออก อีกทั้งเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ อีกด้วย ในส่วนของรถเอกซเรย์เคลื่อนที่นั้น อยู่ในหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งแผนเดิมนั้นจะนำรถเอกซเรย์ ไปประจำที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แต่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนมาประจำที่ด่านสถานีหนองคาย แทน
ทางด้าน นายสมเกียรติ มั้นศิริไพบูลย์ โปรเจคเมเนเจอร์ บริษัทเก้าเจริญเทรนทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า ขบวนรถไฟขบวนนี้จะเป็นขบวนรถไฟขบวนแรกในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน ซึ่งช่วงนี้ปัญหาการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19แต่ทางบริษัทฯ โชคดีที่ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ทั้งการดูแลและการประสานงานซึ่งหากการขนส่งครั้งนี้สำเร็จตามที่ได้มีการประสานงานทุกขั้นตอนจนถึงประเทศจีนแล้ว เมื่อถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่เป็นฤดูกาลผลไม้เริ่มออก จะเป็นการช่วยเกษตรการในการส่งออกผลไม้ไปจีนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ส่วนต้นทุนในการขนส่งนั้นที่ช่วงแรกอาจจะดูยังสูงอยู่
แต่หลังจากที่มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหากมีการปรับลดขั้นตอนการใช้คนลง ก็จะทำให้ต้นทุนลดลง ก็จะทำให้การขนส่งผลิตผลทางการเกษตรทางรถไฟไปจีนสามารถทำได้ ซึ่งในส่วนของบริษัทเอง ก็มีคู่ค้าที่ทำร่วมกัน มีการตั้งบริษัทใน สปป.ลาว แล้ว และยังมีคู่ค้าอยู่ในประเทศจีนที่เป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีน ทุกฝ่ายก็ได้ร่วมมือประสานงานกัน สำหรับระยะเวลาในการขนส่งเริ่มตั้งแต่ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง จนไปถึงคุนหมิง จีน หากไม่ติดขัดปัญหาอะไร จะใช้เวลาเพียง 4 วันไม่เกิน 5 วันเท่านั้น ถือเป็นเส้นทางที่เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่งแบบเดิม โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือ ที่ขณะนี้การเข้าออกท่าของเรือทำให้ค่อนข้างยากมาก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น และยังต้องรอคิวเพื่อเข้าท่ายาวนานมากขึ้นไปอีก ซึ่งเหตุการณ์นี้น่าจะอยู่อีกนาน ประกอบทางการจีนเองก็ได้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งเส้นทางนี้ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ทางบริษัทฯ เองก็ได้มีการวางแผนงานโครงการที่จะใช้เส้นทางนี้ ในการขนส่งผลิตผลทางเกษตรจากประเทศไทย ให้ไปถึงทวีปยุโรปอีกด้วย