เฝ้าระวังไฟป่า “ดอยหลวงเชียงดาว-ดอยสุเทพ”

เฝ้าระวังไฟป่า “ดอยหลวงเชียงดาว-ดอยสุเทพ”

จังหวัดเชียงใหม่เฝ้าระวังไฟป่า ดอยหลวงเชียงดาว และ ดอยสุเทพ อย่างเข้มงวด จัดชุดเสือไฟประจำการในพื้นที่ป่าเฝ้าระวัง 24 ชม. เหตุเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช เผยสาเหตุหลักเกิดไฟป่าจากหาของป่า และกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ บางพื้นที่ค่า PM2.5 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ  วันที่ 28 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่สถานีวัดคุณภาพอากาศต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ วัดค่า PM2.5 ได้ 52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร , สถานีวัดคุณภาพอากาศ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่วัดค่า PM2.5 ได้ 55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, สถานีวัดคุณภาพอากาศต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วัดค่า PM2.5 ได้ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เนื่องจากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ เช่น ที่อ.เชียงดาว อ.สันทราย อ.สะเมิง ซึ่งได้ระดมกำลังเข้าไปช่วยดับไฟกันอย่างต่อเนื่อง

 

เฝ้าระวังไฟป่า “ดอยหลวงเชียงดาว-ดอยสุเทพ”

สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด คือพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ พื้นที่ดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะที่อ.เชียงดาวซึ่งทางยูเนสโก้ ได้ประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่ชีวมณฑลเมื่อปี 2564 จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ไฟป่าลุกลามเข้าไปในพื้นที่ดอยหลวง ด้วยการจัดชุดเสือไฟของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช เข้าประจำการที่ อ.เชียงดาว จำนวน 7 ชุด ชุดละประมาณ 15 คน เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างเข้มงวด

 

เฝ้าระวังไฟป่า “ดอยหลวงเชียงดาว-ดอยสุเทพ”

ขณะที่ในพื้นที่ดอยสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ ได้จัดชุดเสือไฟเข้าประจำการ 15 ชุด ชุดละประมาณ 15 คน เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งนี้ชุดเสือไฟที่ประจำการที่ดอยสุเทพ สามารถที่จะโยกย้ายเข้าไปสนับสนุนช่วยในพื้นที่อื่นที่เกิดไฟป่าได้ทันทีที่ได้รับการร้องขอ การที่ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ในพื้นที่ ดอยหลวง อ.เชียงดาว และ ดอยสุเทพ อ.เมือง เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่ไม่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายสูง เป็นพื้นที่ป่าสูงชัน ต้องใช้วิธีการลาดตระเวนเฝ้าระวัง หากเกิดไฟป่าในพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้พืชพันธุ์บางชนิดที่หายากได้รับความเสียหายไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้

 

โดยทั้ง 2 พื้นที่นี้ได้ใช้มาตรการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเสือไฟเข้าประจำการในพื้นป่าตลอด 24ชั่วโมง โดยสลับสับเปลี่ยนกันชุดละ 2-3 วัน เนื่องจากเกรงว่าจะมีการลักลอบเข้าไปจุดไฟในพื้นที่ทั้ง 2 จุดนี้ ขณะเดียวกันยังจัดชุดลานตระเวนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าว อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีเกิดความเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าจุดไฟ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความพยายามที่เข้าไปลักลอบจุดไฟ สาเหตุมองได้ 2 ประเด็นคือ การกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ และ หาของป่าในพื้นที่

 

สำหรับในพื้นที่อื่น จากการพิจารณาทิศทางลมในช่วงนี้ ต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ อ.สะเมิง และ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ติดกับ อ.เมือง ซึ่งมีลมจากทางทิศตะวันตกพัดเข้าสู่ อ.เมือง หากเกิดไฟในพื้นที่ดังกล่าว ลมจะพัดพากลุ่มหมอกควันเข้าสู่ อ.เมือง ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในเมืองเชียงใหม่พุ่งสูงขึ้นได้ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำหมู่บ้านคอยเฝ้าระวังลาดตระเวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่าในพื้นที่