เชียงใหม่ ลดจ่าย “ยาฟาวิพิราเวียร์” เหลือวันละ 8 หมื่นเม็ด
รองผู้ว่าฯเชียงใหม่ สั่งการทุกอำเภอเตรียมพร้อมรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ช่วง "สงกรานต์ 2565" พร้อมตั้ง Hotel Isolation อีก 2 แห่ง รวมเกือบ 300 เตียง ขณะที่สสจ.เชียงใหม่ ปรับการจ่าย "ยาฟาวิพิราเวียร์" เหลือวันละ 80,000 เม็ด หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มมีแนวโน้มลดลง
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมต้อนรับเทศกาล "สงกรานต์ 2565" ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในแต่ละอำเภอ เตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยให้เร่งดำเนินการตามมาตรการ SAVE 608 ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดการแพร่เชื้อกลุ่ม 608 และให้เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่ม 608 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่มีประวัติการได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง และเสียชีวิต
พร้อมกันนี้ จังหวัดเชียงใหม่เตรียมจัดตั้ง Hotel Isolation เพิ่ม จำนวน 2 แห่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยให้สามารถเข้ารับการรักษาในระบบได้อย่างทั่วถึง โดยโรงพยาบาลเชียงใหม่เมดิคอลเช็นเตอร์ ร่วมกับโรงแรมรอยัลเพนนินซูล่า เชียงใหม่ จัดทำ Hotel Isolation จำนวน 210 เตียง โดยมี Box set บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลอย่างใกล้ชิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนโรงพยาบาลลานนา ได้ทำ Hotel Isolation ร่วมกับโรงแรมชบาลานนา โฮเทล ใช้พื้นที่จำนวน 2 โซน จัดทำ Hotel Isolation ทั้งหมด 76 ห้อง เนื่องจากโรงพยาบาลลานนาได้รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระบบประกันสังคมจำนวนมาก จึงได้ขยายการรักษาในระบบ Hotel Isolation เพิ่ม เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มประกันสังคม
ด้านนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่มีความเข้าใจในเรื่องการจ่าย "ยาฟาวิพิราเวียร์" สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น
โดยที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่เคยใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" รักษาผู้ป่วยมากถึง 220,000 เม็ดต่อวัน ขณะที่ ปัจจุบันมีการใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ลดลงเหลือ 80,000 เม็ดต่อวัน ทำให้ภาพรวมการใช้ยาของจังหวัดเชียงใหม่ลดลงกว่าร้อยละ 3 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป้าหมายไว้
รายงานข่าวแจ้งว่า ตัวเลข ณ วันที่ 28 มีนาคม 2565 จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง โดยมีผู้ติดเชื้อยืนยัน (RT-PCR) เฉลี่ย 14 วัน จำนวน 387 และผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) เฉลี่ย 14 วัน จำนวน 3,810 และรักษาหายสูงถึง 5,982
ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และยังคงเป็นการรักษาด้วยระบบ HI และ OP-SI เป็นหลัก ในส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนสำหรับประชากรในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 1.7 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีน เข็ม 2 แล้วจำนวน 1,561,897 ราย คิดเป็นร้อยละ 90.32 และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 จำนวน 598,343ราย คิดเป็นร้อยละ 72.01