ชมภาพชุด ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา
ชมภาพชุด ในหลวง พระราชินี เสด็จฯไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ณ โรงพยาบาลศิริราช ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงรอเฝ้าฯ รับเสด็จ
วันนี้ (30 มี.ค.65) เวลา 17.28 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ณ โรงพยาบาลศิริราชเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงรอเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมด้วยผู้บริหารโรงพยาบาลศิริราช และคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน เฝ้าฯ รับเสด็จ
อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารศูนย์การแพทย์ จำนวน 25 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2554
เพื่อเป็นอาคาร ศูนย์การแพทย์ที่ให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางอย่างครบวงจร ทดแทนกลุ่มอาคาร 3 หลังเดิมที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 50 ปี จนเกิดความทรุดโทรมและแออัด และเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออาคารแห่งนี้ว่า “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” มีความหมายว่า “อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”
นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558
สำหรับอาคาร ฯ แห่งนี้ เปิดให้บริการตรวจรักษาแก่ผู้ป่วยภายนอกและผู้ป่วยภายใน โดยให้บริการผู้ป่วยนอก ในการตรวจรักษาโรคทั่วไป และโรคเฉพาะทาง อาทิ ด้านอายุรกรรม ด้านประสาทวิทยา ด้านระบบทางเดินหายใจและความผิดปกติด้านการนอน ด้านต่อมไร้ท่อ ด้านกระดูกและข้อ ด้านรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา อย่างเบ็ดเสร็จ
ส่วนงานบริการผู้ป่วยใน ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยด้านอายุรกรรม จิตเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา ออโธปิดิกส์ รังสีรักษา รวมทั้งให้บริการห้องผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อ และหอผู้ป่วยวิกฤต นอกจากนี้ ยังให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่าง ๆ อาทิ
ศูนย์หทัยวิทยา ศูนย์วักกะวิทยา ศูนย์รังสีวินิจฉัย และศูนย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ถือเป็นอาคารศูนย์การแพทย์ที่มีศักยภาพในการรองรับการบริการรักษาผู้ป่วยนอกได้ 500,000 คนต่อปี และผู้ป่วยในได้ 20,000 คนต่อปี
ทั้งนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงคำนึงถึงการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยและการรักษาพยาบาลของผู้เจ็บป่วยในประเทศ ให้ได้รับโอกาสในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินจำนวน 100,000,000 บาท (หนึ่งร้อยล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินรายได้จากการจำหน่ายสมุดไดอารี่ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ สมทบทุนในการก่อสร้างอาคาร ฯ
รวมทั้งเงินจากการจัดหาทุนของคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน รวมเป็นเงินในการก่อสร้างอาคาร ฯ ทั้งสิ้น 6,093,237,614.56 บาท (หกพันเก้าสิบสามล้านสองแสนสามหมื่นเจ็ดพันหกร้อยสิบสี่บาท ห้าสิบหกสตางค์)
และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงิน จำนวน 709,850,500 บาท (เจ็ดร้อยเก้าล้านแปดแสนห้าหมื่นห้าร้อยบาทถ้วน) ซึ่งเป็นเงินที่ประชาชนได้ร่วมกันทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และเงินรายได้จากการจัดงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ในการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์สำหรับใช้ในการรักษาพยาบาลที่อาคารดังกล่าว ทำให้มีศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นเลิศเทียบเท่ามาตรฐานสากล อาทิ
เครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนพร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MR-LINAC) ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบฉายแสงที่แม่นยำและตรงจุดมากขึ้น เกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะน้อยที่สุด
การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินเพื่อสมทบทุนก่อสร้างอาคาร ฯ รวมถึงการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากลสำหรับอาคารนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร ทำให้ผู้ใช้บริการได้ยังประโยชน์ในการเข้ารับการรักษาพยาบาล และการวินิจฉัยโรคที่สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพและครบวงจรมากยิ่งขึ้น