"Polar Vortex" บทสรุปปรากฏการณ์ สาเหตุทำไมถึงไม่กระทบประเทศไทย

"Polar Vortex" บทสรุปปรากฏการณ์ สาเหตุทำไมถึงไม่กระทบประเทศไทย

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องอากาศที่เย็นลงในไทยช่วง เม.ย.2565 นี้ เป็นปรากฏการณ์ "Polar Vortex" ล่าสุดมีบทสรุปพร้อมกับสาเหตุทำไมถึงไม่กระทบประเทศไทย จากทาง กรมอุตุนิยมวิทยา

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องอากาศที่เย็นลงในไทยช่วง เม.ย.2565 นี้ เป็นปรากฏการณ์ "Polar Vortex" ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- รู้จัก "POLAR VORTEX" ที่ถูกอ้างถึงกับปรากฏการณ์ "เย็นวูบวาบ" ของไทย

- "อุณหภูมิ" ลดฮวบเดือนเมษายน กรมอุตุฯ แจง ไม่เกี่ยวกับ "Polar Vortex"

- "พยากรณ์อากาศ" เช็คพื้นที่อากาศเย็นตอนเช้า อุณหภูมิวันนี้ต่ำสุด 18 องศา

 

จากกรณีที่มีการโพสต์และการแชร์ในสื่อโซเชียลมีเดียโดยระบุว่า เย็นวูบวาบเดือนเมษาฯ เกิดปรากฏการณ์ "Polar Vortex" ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวปลอม ซึ่งความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงวันที่ 1 - 3 เมษายน 2565 เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน (กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน วันที่ 2 มีนาคม 2565)

 

ซึ่งโดยทั่วไปอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศร้อนถึงร้อนจัดในบางวัน และมักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าวแผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ หากมวลอากาศเย็นดังกล่าว มีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวนโดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ 2-3 วันเท่านั้น

 

 

สำหรับปรากฏการณ์ Polar Vortex ที่อ้างถึงดังกล่าว มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาสูงกีดขวางเป็นอุปสรรคคือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป โอกาสที่นำความหนาวเย็นจากขั้วโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นอุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) ดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.tmd.go.th , Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weatherสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวปลอม ปรากฏการณ์ Polar Vortex ที่อ้างถึง มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาสูงกีดขวางเป็นอุปสรรคคือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูงทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป ดังนั้นอุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) ดังกล่าวแต่อย่างใด

 

\"Polar Vortex\" บทสรุปปรากฏการณ์ สาเหตุทำไมถึงไม่กระทบประเทศไทย

 

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม