"ปุ๋ยแพง" สภาเกษตรกรฯ หนุนตั้งโรงงานปุ๋ยเคมี ลดนำเข้า

"ปุ๋ยแพง" สภาเกษตรกรฯ หนุนตั้งโรงงานปุ๋ยเคมี ลดนำเข้า

"ปุ๋ยแพง" ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ขอให้รัฐบาลตั้งโรงงานปุ๋ยเคมีลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ระบุมีวัตถุดิบในการผลิต หวังสร้างความมั่นคงให้กับประเทศเกษตรกรรมในระยะยาว พร้อมขอให้ปัดฝุ่นปุ๋ยแห่งชาติเป็นเมกะโปรเจกต์

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 65 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีแพงว่า ได้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยการผลิตหลักต่อเกษตรกร ถือว่าแพงมากในรอบหลายปี หากเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีแบบเดิมอย่างไรก็ไม่รอด ได้มีการหารือเกษตรกรสาขาการผลิตใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ชาวนาที่มีกว่า 4.5 ล้านครัวเรือน อยากเรียกร้องให้เกษตรกรทั้งประเทศ ศึกษาแนวทางในการผลิตใหม่ที่ลดใช้เคมีเกษตรลงมาให้ได้ ที่ผ่านมามีรูปธรรมของชาวนาในหลายภูมิภาคใช้ต้นทุนการผลิตไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท โดยตั้งเป้าใช้เคมีให้น้อยที่สุด ชาวนาควรจะการถอดบทเรียนจากชาวนาที่ทำมาหลายปีที่ประสบผลสำเร็จในการลดต้นทุนการผลิต มาเป็นต้นแบบในการพึ่งพาต้นเอง โดยทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ฯ เตรียมจะนำเสนอข้อมูลเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ส่วนราชการได้รับทราบแนวทางในการลดการใช้ปุ๋ยเคมี

ส่วนสิ่งที่ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติอยากเรียกร้องจากรัฐบาล คือ ปุ๋ยเคมีเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน แต่กลับไม่มีโรงงานปุ๋ยเป็นของตนเอง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทยมีปุ๋ยไนโตรเจน อันเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมมาเป็นปุ๋ยยูเรีย มีแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ ที่อีสาน มีบางเหมืองเปิดแล้วที่จังหวัดชัยุภูมิ แต่จะขาดเพียงฟอสแฟส ซึ่งสามารถนำเข้าจากจีนที่เป็นแหล่งใหญ่ได้ หากว่ารัฐบาลสามารถสร้างความร่วมมือ  2 ประเทศ ร่วมทุนทำโรงงานปุ๋ยเคมีในประเทศไทย ใช้ยูเรีย และโพแทชที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย จะทำให้เกิดความมั่นคงของชาติในระยะยาว เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม

ปัจจุบนการสงครามูเครน-รัสเซีย มีผลในระยะยาวนาน และไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง ควาามขัดแย้งยังคงเกิดขึ้น และมีการลุกลาม ในระยะยาวประเทศไทยต้องมีโรงงานปุ๋ยเคมีของตนเอง ที่สำคัญรัฐต้องเป็นเจ้าภาพในการพูดคุย อย่าไปเอาความล้มเหลวในอดีตมาเป็นข้อจำกัด เวลาที่หยิบประเด็นเกี่ยวกับ บริษัทปุ๋ยแห่งชาติ มักจะมีคนคัดค้านว่าทำไมอยากล้มเหลวซ้ำสอง ไม่อยากให้ไปมองแบบนั้น แต่เป็นเมกะโปรเจกต์ที่ต้องผลักดัน เพื่อให้ลดต้นทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ้ และรัฐสามารถแทรกแซงกลไกทางการตลาดได้ เพราะเป็นผลผลิตที่ทำเองในกระเทศ