"โควิดโอมิครอน" ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วย เผยยา 2 ตัวลดป่วยหนักตายกลุ่ม 608

"โควิดโอมิครอน" ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วย เผยยา 2 ตัวลดป่วยหนักตายกลุ่ม 608

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" สายพันธุ์โอมิครอน ยกเคสผู้ป่วยวัย 85 ปีเสียชีวิต เผยยา 2 ตัวลดป่วยหนักตายกลุ่ม 608 ซึ่งไม่ใช่ ยาฟาวิพิราเวียร์

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) แพทย์ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" สายพันธุ์โอมิครอน กับความเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ยกเคสผู้ป่วยอายุ 85 ปีเสียชีวิต แม้ว่าจะกิน "ยาฟาวิพิราเวียร์" แต่ก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 25,298 ราย ตาย 98 ราย ATK อีก 22,431 ราย

- สต็อค"ยาฟาวิพิราเวียร์"มีกว่า 25 ล้านเม็ด เช็คกลุ่มที่จะได้ยา ไม่ใช่ทุกคน

- "ยาฟาวิพิราเวียร์" เปิดผลวิจัยล่าสุด ผลข้างเคียง ใครห้ามกินยาตัวนี้

 

โดย หมอมนูญ ระบุว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีโอกาสสูงที่จะเกิดปอดอักเสบ ป่วยหนักต้องเข้าไอซียู ใส่เครื่องช่วยหายใจและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ฉีดเข็มเดียว หรือฉีดครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น

 

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้ยาต้านไวรัสตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือในอนาคตอันใกล้ ยาแพกซ์โลวิด ภายใน 5 วันแรกที่เริ่มป่วยซึ่งยาใหม่ 2 ขนานนี้มีหลักฐานช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ไม่ใช่ ยาฟาวิพิราเวียร์

 

ผู้ป่วยชายอายุ 85 ปี เป็นโรคกระดูกพรุน เคยกระดูกสะโพกหัก เดินไม่ได้ นอนติดเตียง เป็นโรคความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต มาตรวจตามปกติ วันที่ 12 มีนาคม 2565 ทั่วไปแข็งแรงดี ความดันปกติ ไม่อ้วน รู้ตัวดี ขยับแขนขาได้ แต่เดินไม่ได้

 

ผู้ป่วยยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดแม้แต่เข็มเดียว แนะนำให้รีบฉีดโดยด่วน ลูกสาวติดต่อ อบจ.ส่งเจ้าหน้าที่มาฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกที่บ้านวันที่ 18 มีนาคม 2565

 

วันที่ 24 มีนาคม 2565 ลูกสาวติดเชื้อโควิด คนไข้เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตรวจ ATK และ RT-PCR ให้ผลบวกวันที่ 26 มีนาคม 2565 โรงพยาบาลใกล้บ้านส่ง ยาฟาวิพิราเวียร์ ให้กินที่บ้านจนครบ 5 วัน อาการไม่ดีขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ต้องรับเข้าห้องไอซียู

 

วันที่ 31 มีนาคม 2565 ใส่เครื่องช่วยหายใจ ได้ยาเรมเดซิเวียร์ชนิดฉีด ก็ไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง ความดันตก ไตวายเฉียบพลัน เสียชีวิตวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน น่าเสียดาย ถ้าผู้ป่วยรายนี้ได้รับการฉีดวัคซีนเร็วกว่านี้ คงจะช่วยไม่ให้เสียชีวิตได้