เปิดโครงการ Youth Verification Challenge ชวนเยาวชน 15-24 ปี ฝึกตรวจสอบข่าวลวง
Google news Initiative ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT เปิดตัวโครงการ “Youth Verification Challenge” ชวนเยาวชนร่วมฝึกทักษะการตรวจสอบข่าว และร่วมแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับเอเชีย
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 นายธนภณ เรามานะชัย Trainer Google News Initiative (GNI) กล่าวว่า โครงการ Youth Verification Challenge เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี เข้าร่วมฝึกอบรมทักษะการตรวจสอบข่าวหรือข้อมูลลวงต่างๆ กับทีมงานของ GNI พร้อมด้วยพันธมิตรที่เป็นผู้สื่อข่าวและนักตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checker) ทั่วทั้งเอเชีย กิจกรรมนี้แบ่งออกเป็น 4 ระยะ มีทั้งการเล่นเกมตอบคำถาม การฝึกอบรม ไปจนถึงการแข่งขันในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เปิดรับสมัครวันนี้ -16 เมษายนเท่านั้น
“ทำไม GNI อยากจัดโครงการนี้ ถ้ามองจากประสบการณ์ของผม น้องๆ เยาวชน ถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันให้ทางบ้าน ถ้าเราจะสอนเรื่องการตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวเท็จ บางทีถ้าเราคุยกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุอาจจะไมได้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว ดังนั้นแล้วน้องๆ เยาวชน น่าจะมีความคล่องแคล่วในเรื่องการใช้เครื่องมือตรวจสอบข้อมูลลวงมากกว่า และน้องๆ ยังสามารถเอาไปบอกด่อกับคุณพ่อคุณแม่ ไปบอกต่อญาติผู้ใหญ่ทางบ้านได้ด้วย” นายธนภณ กล่าว
นายธนภณ กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมนี้นอกจากจะทำให้เยาวชนมีทักษะตรวจสอบข่าวหลอกลวงในชีวิตประจำวันได้แล้ว ยังเป็นการปูทางไปสู่การมีงานทำในอนาคตด้วย Fact Checker นั้นปัจจุบันเป็นอาชีพใหม่ในแวดวงสื่อสารมวลชน โดยระหว่างการอบรมจะมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้คำแนะนำตลอดโครงการ ซึ่ง Youth Verification Challenge ในครั้งนี้จัดเป็นปีที่ 2 แล้ว กิจกรรมในภาพรวมจะคล้ายกับปีก่อน แต่จะแตกต่างกันบ้างในเนื้อหาและรายละเอียด
โดยกิจกรรม “ระยะที่ 1” เป็นการเรียนรู้ทักษะง่ายๆ รวม 8 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ในรูปแบบ Youtube Live ว่าด้วยเทคนิคการตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความตัวอักษร ซึ่งมักพบบ่อยๆ ในการแชร์ผ่านกลุ่มไลน์ จะตรวจสอบได้อย่างไร รูปภาพหรือคลิปวีดีโอที่แชร์กันมาจะหาต้นตอได้จากที่ไหน เริ่มเรียนครั้งแรก 18 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยท้ายการเรีบนแต่ละครั้งจะมีชุดคำถามให้ตอบเพื่อเก็บสะสมคะแนน ให้เวลา 3-5 นาทีในการตอบ
จากนั้น “ระยะที่ 2” ประมาณเดือน พ.ค. 2565 จะได้เรียนรู้การทำงานของวิทยากรหรือพี่เลี้ยง (Mentor) 4 ท่าน เพื่อให้เห็นว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงในแต่ละนั้นทำอย่างไรกันบ้าง โดยในส่วนของวิทยากร เป็นกิจกรรมที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ จากเดิมปีก่อนที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการตอบคำถามมากกว่า “ระยะที่ 3” ประมาณกลางปี 2565 เป็นการให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการและผ่านระยะที่ 1-2 มาแล้ว มารวมทีมเพื่อเข้าร่วมแจ่งขันระดับชาติ และ “ระยะที่ 4” เฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อในระดับเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. 2565 ในงาน Trusted Media Summit ของ GNI เพื่อให้ได้สุดยอดนักตรวจสอบข้อเท็จจริงรุ่นเยาวชนของเอเชีย-แปซิฟิก
นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT กล่าวว่า โครงการ Youth Verification Challenge มีความสำคัญกับคนที่ในอนาคตต้องการทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประโยชน์ที่ได้รับของเยาวชนผู้เข้าร่วมนอกจากจะได้เห็นว่าคนที่ทำงานด้านนี้ต้องมีทักษะและใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ได้ลงมือทำเพื่อฝึกฝนทักษะเนื่องจากวิชานี้ไม่มีการสอนในห้องเรียน ได้พบกับทีมงานที่ปกติอาจเข้าถึงได้ยาก เช่น ทีม GNI ของกูเกิ้ล ตลอดจนคนที่ทำงานด้านตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
“เป็น Shortcut (ทางลัด) หรือก้าวกระโดดสำหรับน้องๆ ที่มีความสนใจ โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องอนาคตของวงการข่าว อนาคตของวารสารศาสตร์ น้องๆ คนที่เป็นครีเอเตอร์ คนที่อยากสร้างสรรค์สื่อแต่ไม่อยากทำสื่อบันเทิงอย่างเดียว อยากจะทำสื่อที่มันเสริมสร้างบางอย่างให้สังคม หรืออยากจะทำสื่อที่มีแต่ความจริง สื่อที่ทำให้ข้อเท็จจริงมันมีความสำคัญขึ้นในสังคมไทย อะไรแบบนี้ โอกาสนี้จะเป็นหนึ่งในโอกาสที่ดีมากๆ” นายพีรพล กล่าว
นายพีรพล กล่าวอีกว่า ทักษะการตรวจสอบข้อมูลบนสื่อออนไลน์ หลายคนอาจทำเป็นอยู่แล้ว หรือใช้เครื่องมือเป็นแล้วในบางส่วน แต่การมาอบรมครั้งนี้เหมือนกับการทำความเข้าใจโครงสร้างใหญ่ของชุดเครื่องมือทั้งหมด โดยจะได้รู้ว่าคนที่ทำงานด้านนี้จริงๆ ใช้เครื่องมือกันอย่างไร และมองเครื่องมือเหล่านี้อย่างไร ถือว่าเป็นเนื้อหาที่ต่อยอดได้อย่างมาก ส่วนคนที่ยังทำไม่เป็นจะยิ่งได้ความรู้ หรือคนที่บอกว่าทุกวันนี้สงสัยอะไรก็ค้นหาในกูเกิ้ลอยู่แล้วทำไมยังต้องมาเรียนอีก ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่จะได้เรียนไม่เหมือนกับที่ค้นหากันอง
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล (International Fact-Checking Network : IFCN) กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันตรวจสอบข้อมูลสากล (International Fact-Checking Day) โดยวันที่ 2 เมษายน นั้นเป็นวันถัดมาจากวันที่ 1 เมษายน ที่เป็นวันโกหก (April Fool’s Day) ในวันดังกล่าวหลายคนอาจถูกหลอกกันได้ง่ายๆ แต่ในยุคนี้มีโอกาสถูกหลอกกันได้ทุกวัน
ดังนั้นทักษะในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจึงสำคัญมากในยุคดิจิทัล เพื่อที่จะได้รู้ทันไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวลวงและอาชญากรรมต่างๆ บนโลกไซเบอร์ ซึ่ง Youth Verification Challenge เป็นโครงการที่เชิญชวนเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันตรวจสอบข่าวลือ-ข่าวลวง ริเริ่มโดยทาง Google News Initiative โดยมี โคแฟค (ประเทศไทย) และ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ MCOT ร่วมสนับสนุน
“เท่าที่เราตามตอนนี้ จะเห็นว่า เยาวรุ่นก็ตื่นตัวเรื่องการตรวจสอบข้อมูลกันมาก เราจะมีนักสืบโซเชียลเยอะแยะไปหมดเลยเวลามีอะไรต่างๆ จริงๆ ถ้าได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ ได้อบรม ได้ร่วมแข่ง ก็เพิ่มทักษะตรงนี้มากขึ้นด้วย ก็ฝากทุกท่านประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ใครที่มีน้องๆ ลูกๆ หลานๆ หรือญาติๆ คนไหนที่สนใจ เป็นโครงการที่น่าสนุก” น.ส.สุภิญญา กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://www.verificationchallenge.com/th