การเมือง
"39องค์กร" ประกาศเจตนารมณ์ ต้านข่าวลวง
โคแฟค ร่วม39องค์กร ประกาศเจตนาต้านข่าวลวง ระดมเครือข่ายชัวร์ ก่อนแชร์ หวังสร้างพลเมืองรู้ทันยุคดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ
โคแฟคประเทศไทย IFCN (International Fact Checking Network) ร่วมกับเครือข่ายภาคี 39 องค์กร จัดเวทีสัมมนา "ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน”
โดย นายBaybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบสากล กล่าวปาฐกถา เรื่องการตรวจสอบข่าวลวงในภาวะวิกฤติรอบโลก" โดยนำเสนอประสบการณ์การทำงานการตรวจสอบข่าวลวงที่เกิดขึ้นในเครือข่ายของ IFCN โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนักตรวจสอบข่าว (Fact Checker) ซึ่งในแต่ละประเทศ ต้องมีการทำงานเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน ในปีนี้ถือเป็นวันที่ดีในการร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง และมีการเฉลิมฉลองในหลายๆ เมือง เช่น ลอนดอน โรม รวมไปถึงประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งในอนาคต IFCN อยากจะขยายความร่วมมือไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ส่งผลดีต่อผู้รับสารในการที่จะลดการรับข้อมูลข่าวลวง โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดที่การตรวจสอบข่าวลวงและหาต้นตอยากกว่าการหาต้นตอโรคระบาดเสียอีก ทั้งนี้ในอนาคต IFCN ยังคงมุ่งเน้นการทำงานในการลดการสร้างข่าวลวง รวมถึงในประเทศไทยที่สร้างความร่วมมือมากขึ้นอีกด้วย เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับข่าวลวง
ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟคประเทศไทย กล่าวต่อว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีองค์กรภาคีร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลกในปีนี้ มีทั้งภาควิชาการ วิชาชีพภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง 39 องค์กร เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมทั้งในเชิงวิชาการกิจกรรมสัมมนากับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ร่วมกันตลอดทั้งปีจาก 2 เมษายน 2564 ถึง 2 เมษายน 2565 ถือเป็นปีแห่งการรณรงค์ตรวจสอบข่าวลวง
ทั้งนี้ในเวทีมีการจัดเสวนาโอกาสและอุปสรรค การตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย ซึ่งนำเสนอบทเรียนการทำงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ในประเทศไทย โดย น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ การแชร์ข้อมูลข่าวสาร ข้อความ รูปภาพ ส่งผลกระทบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน สุขภาพ หรือการใช้ชีวิต การเชือ่ข้อมูลที่ผิด ไม่มีแหล่งอ้างอิง ในด้านของการเมืองก็อาจจะทำให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง เพิ่มมากขึ้นในสังคม ซึ่งอยากให้ประชาชน สื่อมวลชน ต้องร่วมกันตรวจสอบเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง ก่อนที่จะแชร์ข้อมูลข่าวสารนั้นออกไปต้องหาแหล่งอ้างอิง ต้องช่วยกันแก้ไขหากข้อมูลนั้นเป็นเท็จ โดยวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ 39 องค์กรที่ร่วมกันรณรงค์ เพื่อต่อยอดการใช้เทคโนโลยีให้เป็นข้อมูลที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ ทั้งนี้อยากให้ทุกคนเปลี่ยนความคิดใหม่ คือก่อนจะแชร์อะไรต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน
ทางด้านของ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือสสส. กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผ่านทางสังคมออนไลน์จากหลายๆส่วนและมีการส่งต่อทำให้ข่าวบางข่าวมีผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง อย่างเช่นในยุคการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการส่งต่อเรื่องของสุขภาพ ประชาชนที่หลงเชื่อและนำไปทำตามอาจถึงกับชีวิตได้ นอกจากเรื่องสุขภาพแล้วยังมีการบูลลี่คนอื่นโดยไม่ทราบข้อเท็จจริงทำให้บุคคลเหล่านั้นได้รับความเสียหายจากการแชร์ข่าวเท็จ
จากนั้น น.ส.สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้อำนวยการองค์กรPhandeeyar แถลงประกาศเจตนารมณ์ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ว่า จากวันที่ 2 เมษายน ของทุกได้รับการจัดให้เป็นที่วันตรวจสอบข่าวลวงโล หรือ International Fact-Checking Day 2021 ที่ประกาศโดยเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสาร National Fact-Checking Network- IFCN ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารครอบคลุมในหลายประเทศทั่วโลก เน้นประเด็นข้อมูลสุขภาวะโดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ประเด็นข่าวเชิงวารสารศาสตร์ และ ข่าวสารทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งหวังว่าผู้คนในสังคมจะให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงและการครวจสอบข้อเท็จจริงกันให้มากขึ้นในยุคดิจิทัลที่ข่าวลือข่าวลวงเผยแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วไม่มีจุดจบสิ้น
"39 องค์กร ขอประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานร่วม เพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวของสังคม ส่งเสริมทักษะและเครื่องมือให้กับพลเมืองยุคดิจิทัลในการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร ขยายชุมชนตรวจสอบข่าวลวงให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและมีความเข้มแข็ง ทั้งในภาคีสถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรสื่อมวลชน เป็นต้น เชื่อมั่นว่าข้อเท็จจริง และ ความเข้มแข็งของภาคพลเมือง จะช่วยทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีคุณภาพบนพื้นฐานของการไตร่ตรอง ใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ เพื่อลดผลกระทบด้านลบยุคข้อมูลข่าวสาร รวมถึงลดความขัดแย้งอันเนื่องจากความเข้าใจผิดด้วยเช่นกัน” น.ส.สายใจ กล่าว.