ซีอีโอ "อาร์เอ็กซ์ โกลบอล" เผยทิศทางอุตสาหกรรม MICE ยก "ไทย" มีศักยภาพเป็นฮับไมซ์ในอาเซียน
มร.ฮิวจ์ โจนส์ ซีอีโอ อาร์เอ็กซ์ โกลบอล เผยทิศทางอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ทั่วโลก เติบโตหลังโควิดคลี่คลาย ขณะที่ไมซ์ไทย คาดทำรายได้สูงถึง 12.23 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2570 ยก "ไทย" มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการแสดงสินค้าของอาเซียน
มร.ฮิวจ์ โจนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อาร์เอ็กซ์ โกลบอล ในฐานะผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าแห่งอาเซียน ที่สร้างสรรค์งานแสดงสินค้าให้แก่หลากหลายอุตสาหกรรม เปิดภาพรวมและสถานการณ์ อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ในตลาดโลก โดยอ้างอิงจากรายงานของ Research Dive คาดว่า อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกจะทำรายได้ 1,619.3 ล้านล้านดอลลาร์ในกรอบเวลาจาก 2021-2028 เติบโตจาก 1,007.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020
ขณะที่ อุตสาหกรรมไมซ์ ในยุโรป คิดเป็นมูลค่า 405.4 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2020 และคาดว่าจะมีรายได้ 626.0 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 ส่วนทางฝั่งเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะเติบโตในอัตรา CAGR ที่ 6.7% โดยสร้างรายได้ 501.3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลานี้ ด้านอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย อ้างอิงจากการวิจัยตลาดของพันธมิตร พบว่า มีมูลค่า 6.93 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 และคาดว่าจะสูงถึง 12.23 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2570 โดยมีอัตรา CAGR ที่ 11.63% ตั้งแต่ปี 2564 ถึง ปี 2570
"อุตสาหกรรมไมซ์ หรือ MICE ประกอบด้วย Meeting, Incentive Travel, Conventions และ Exhibitions เฉพาะคำว่า Exhibitions มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะสร้างรายได้ 130.7 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 ซึ่งโตจาก 73.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 โดยที่ผ่านมา การระบาดใหญ่ของโควิดส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมค่อนข้างมาก ทั้งข้อจํากัดด้านการเดินทางและมาตรการป้องกันของรัฐบาลที่ห้ามการร่วมกลุ่ม แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย การประชุมและกิจกรรมที่เสมือนจริงได้เข้ามาแทนที่การประชุมแบบปกติ (การพบปะเจอหน้ากัน) และถึงแม้ตอนนี้มาตรการดังกล่าวได้คลี่คลายแล้ว แต่เทคโนโลยีที่นำมาใช้ก็มีส่วนสำคัญในการจัดงาน ทั้งในรูปแบบไฮบริดหรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมในการจัดงานตามปกติ" มร.ฮิวจ์ กล่าว
มร.ฮิวจ์ ยกตัวอย่างเทคโนโลยีของทาง RX ที่ในอนาคตมีแพลนจะนำเข้ามาใช้ในงาน "เมทัลเล็กซ์" หรืองานแสดงสินค้าอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีการสแกนข้อมูล หรือเทคโนโลยีสกรีนคนเข้างาน ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มความมั่นใจในการเดินชมงาน หรือในช่วงที่ยังไม่ได้จัดงาน จะมีการรวบรวมข้อมูลไว้เป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ หรือทะเลสาบข้อมูล (Data Lake) เพื่อให้บริษัทต่างๆ ได้รู้ว่าผู้ร่วมงานเป็นใคร มีความต้องการอะไร ช่วยให้เวลามาเดินงาน สามารถแนะนำได้ว่า ควรจะไปดูงานที่จุดไหน และควรจะไปพบใครบ้าง ถือเป็นการแนะนำการชมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับทิศทางและแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทย หลังสถานการณโควิดคลี่คลาย มร.ฮิวจ์ มองเห็นศักยภาพในไทยอย่างมาก ทั้งทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ โดยการลงทุนในไทยตอนนี้ มุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิต ตั้งแต่งานโลหะ ยานยนต์ พลาสติกและยาง ไปจนถึงเครื่องสำอาง ส่วนในอนาคตยังคงโฟกัสในส่วนนี้อยู่ แต่จะเพิ่มส่วนอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย โดยเน้นย้ำว่า หากจะจัดนิทรรศการแสดงสินค้ารูปแบบใหม่ก็ยังคงให้สำคัญกับทั้งลูกค้าปัจจุบันที่อยู่มายาวนาน ควบคู่ไปกับการหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่อื่นๆ เพิ่มเติม
"นอกจากประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว ทั้งวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์และประสบการณ์ด้านอาหารที่ยอดเยี่ยม ยังเต็มไปด้วยศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการแสดงสินค้าของอาเซียนเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง ถนน สาธารณูปโภค หรืออินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นยังฟรีวีซ่าสำหรับ 21 สัญชาติ สถานที่จัดงานมีมาตรฐานพรีเมียมระดับสากล สามารถรองรับงานแสดงได้หลากหลายประเภท" มร.ฮิวจ์ กล่าว
มร.ฮิวจ์ ยังกล่าวด้วยว่า งานนิทรรศการในประเทศไทย กำลังมุ่งไปสู่การเป็นจัดงานนิทรรศการที่มีปริมาณคาร์บอนเป็นศูนย์ ผู้จัดงานได้รวมเอาความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในงานด้วยการจัดงานที่เป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานที่ยั่งยืน พอมารวมกับความเป็นไทยที่มีอยู่ในทุกการบริการและกิจกรรม รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จึงกลายเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับนักธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะมาทำงานแล้วยังได้มาเที่ยวไปพร้อมๆ กันด้วย