เครือรพ.พญาไท-เปาโล ถอดรหัสความสำเร็จ รางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่นปี 2565
เครือโรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลเปาโล ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2565 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เนื่องใน "วันนวัตกรรมแห่งชาติ"
ด้วยความโดดเด่นในการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กร นำมาสู่การพัฒนา Business model ใหม่ที่ยกระดับคุณภาพงานบริการ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้บริการ ตลอดจนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
- รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
นิรุธ ศรีพวาทกุล ผู้อำนวยการสายพัฒนาคุณค่าธุรกิจและเพิ่มพูนการเรียนรู้ เครือโรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลเปาโล เปิดเผยว่า การได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติอันทรงเกียรติครั้งนี้ เปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของนวัตกร หรือคนทำนวัตกรรมนับเป็นความภาคภูมิใจของบุคลากรทุกคน และถือเป็นบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นตั้งใจและทุ่มเทของคนทั่วทั้งองค์กรที่ต่างมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์กรนวัตกรรมดีเด่นในปีนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กระบวนการทำงานที่ปรับเปลี่ยนทั้งองค์กรและมายด์เซ็ตพนักงาน ซึ่งมองว่านวัตกรรมไม่ใช่สิ่งไกลตัว
ด้วยวิสัยทัศน์ของ "อัฐ ทองแตง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ที่มองเห็น pain point ในอุตสาหกรรมโรงพยาบาลในเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตื่นตัวค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในฐานะเครื่องมือที่จะสร้างความแตกต่าง ความแข็งแกร่งและความได้เปรียบให้กับองค์กรในการรับมือกับ Disruption ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด
"จะทำอย่างไรกับ pain point นี้ จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนคนในอุตสาหกรรมนี้ รู้คิดนอกกรอบที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นี่คือโจทย์ท้าทายที่สำคัญ"
จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง 3 หน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมเมื่อปี 2562 เพื่อตอบสนองการเติบโตในอนาคต และเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การได้รับรางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่นปีนี้
- 3 หน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรม
สำหรับ 3 หน่วยงานที่จัดตั้งตามวิสัยทัศน์ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ได้แก่
1. PIL (Phyathai Paolo Innovation Lab) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรให้มีความเป็นนวัตกรรม ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจหรือ มายด์เซ็ตควบคู่กับการสร้างสกิลเซตให้คนในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องสร้างนวัตกรรมขึ้น ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ การบริการ กระบวนการทำงานตลอดจนโมเดลธุรกิจใหม่
กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนวัตกรรม ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ
- การสร้างสภาวะแวดล้อมด้านนวัตกรรม เช่น อัปเดตข่าวสารด้านเทคโนโลยีให้กับพนักงานผ่านไลน์กรุ๊ป, จัดการสนทนาออนไลน์โดยแขกรับเชิญจะเป็นองค์กรนวัตกรรมหรือบุคคลที่มีบทบาทด้านนวัตกรรม
- กิจกรรมการประกวดผลงานนวัตกรรมประจำปี ซึ่งแต่ละปีมีผลงานเข้าประกวด 140-150 ผลงาน ช่วยจุดประกายให้คิดนอกกรอบและเรียนรู้เส้นทางการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ เก็บข้อมูลและการพัฒนา องค์กรยังจัดคอร์สอบรมผู้ส่งผลงานเข้าประกวด เช่น วิธีการเขียนแผนธุรกิจ การเก็บดาต้า/ สถิติตลอดจนการเขียนแผนธุรกิจ เป็นต้น โดยเชิญวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
- การสนับสนุนและต่อยอดไอเดีย หรือผลงานนวัตกรรมจากบุคลากรในองค์กรสู่เชิงพาณิชย์ (Innovation Commercialization) โดยขยายผลการใช้งานครอบคลุมโรงพยาบาลในเครือพญาไทและเปาโลทั้ง 11 แห่ง ขณะเดียวกันยังทำงานร่วมกับ CPRIA หากเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะต้องทำการวิจัยและเก็บดาต้าการรักษา
2. CIL (Center of Interactive Learning) ทำหน้าที่คล้ายกับการดิจิทัลทรานส์ฟอร์มด้านการเรียนรู้ โดยทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้ในองค์กร และพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นในรูปแบบห้องเรียนออนไลน์ (Sharing best practices) นอกจากจะมีโนว์ฮาวของพนักงานในองค์กรแล้ว ก็ยังมีหลักสูตรอื่นๆ จากภายนอก ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของบุคลากร ปัจจุบันรวมแล้วกว่า 700 หลักสูตรออนไลน์
3. CPRIA (Center of Private and Innovation Accelerator) ศูนย์วิจัยเอกชน ทำหน้าที่สนับสนุนการทำวิจัยทั้งภายในองค์กรและความร่วมมือกับหน่วยงายภายนอก โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครที่จะต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมการวิจัย ถูกต้องตามกฎระเบียบ ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ
- All You Can Check เปิดมิติใหม่
สิ่งเหล่านี้ คือระบบนิเวศนวัตกรรมภายในองค์กรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เริ่มจากตัวบุคลากรที่มีมายด์เซ็ตใหม่ในเรื่องนวัตกรรม และมีความเป็นนวัตกรในตัวมากขึ้น โดยให้ความสนใจหรือสังเกตมองหาปัญหาแล้วนำมาขบคิดตั้งเป็นโจทย์นวัตกรรม ในส่วนของโรงพยาบาลก็ได้โมเดลธุรกิจใหม่ที่นำมาสู่การออกแบบบริการและผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพใหม่
ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมตรวจสุขภาพ All You Can Check ที่ออกแบบมา โดยเน้นเรื่องของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) จะมาช่วยมอนิเตอร์สุขภาพตลอดระยะเวลา 1 ปี ปรับพฤติกรรมตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน และวางแผนดูแลสุขภาพได้อย่างตรงจุด โดยมีแพทย์เป็นผู้ให้คำแนะนำ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โปรแกรมนี้ครอบคลุมการตรวจร่างกายตั้งแต่รายการตรวจแบบ Basic จนไปถึงการตรวจเจาะลึกคัดกรองความเสี่ยงเฉพาะด้าน เช่น CT Scan และ MRI โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นับเป็นมิติใหม่ของการดูแลสุขภาพที่ริเริ่มโดยเครือ โรงพยาบาลพญาไท และ เปาโล
ส่วนปัจจัยส่งเสริมนวัตกรรมจากภายนอกคือ จากการที่โรงพยาบาลพญาไท เป็นโรงพยาบาลเอกชนรายเดียวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี จึงมีโอกาสร่วมสร้างสรรค์หรือวิจัยทดสอบนวัตกรรมกับ Tech Startup หลายราย อาทิเช่น Bambily สายรัดวัดไข้ในเด็กอายุ 3 เดือนถึง 8 ปี
ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมจากการประกวดในปีนี้คือ เครื่องกำจัดขยะเศษอาหาร (Food Waste Machine) โดยโรงพยาบาลเปาโลรังสิต ที่มีกระบวนการคิดครบวงจรจากเศษอาหารไปสู่ปุ๋ยคืนสู่ชุมชน จากผลงานต้นแบบจะได้รับการพัฒนาต่อยอดและสเกลอัพสำหรับใช้ในโรงพยาบาลในเครือฯ ทุกโรง ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับเครือโรงพยาบาลพญาไทฯ และ BDMS President Awards รางวัลชนะเลิศในเครือ BDMS นับเป็นความภาคภูมิใจของบุคลากรในเครือโรงพยาบาลพญาไทฯ อย่างยิ่ง
นิรุธ สรุปปิดท้ายว่า Key success ที่นำไปสู่รางวัลองค์กรนวัตกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนซึ่งตามมาด้วยการวางแผนและการสนับสนุน กลยุทธ์, ความร่วมมือของบุคลากรทุกระดับชั้นในองค์กร และการยอมรับและส่งเสริม