เปิดโรดแมปพลังงานสะอาด ปฏิบัติการสู่ Carbon Neutral ในงาน EGCO Group Forum 2022
"เอ็กโก กรุ๊ป" จัดงานสัมมนาหัวข้อ "EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" โดยมีภาครัฐและภาคเอกชนร่วมนำเสนอโรดแมป เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวในงานสัมมนาว่า จากนโยบายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในปัจจุบัน จะต้องลดการพึ่งพา เชื้อเพลิงฟอสซิล ลงอย่างต่อเนื่องภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่ง 10 ประเทศอาเซียน ได้กำหนดนโยบายลดคาร์บอนลงแต่ยังมีความเป็นห่วงว่าประเทศต่างๆ ยังคงต้องใช้ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้เส้นทางการมุ่งสู่ สังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 40% ในปี ค.ศ. 2030 เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี ค.ศ. 2065 ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น อีกวิธีสำคัญในการผลักดันนโยบายนี้คือ การส่งเสริมให้ใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย หากไม่ทำอะไรเลยและสัดส่วนการใช้ พลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันยังน้อยเพียง 23-24% ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่หลายประเทศออกนโยบาย พลังงานสีเขียว เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินถึง 2 ล้านล้านเยน เพื่อลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในระยะแรก ส่วนระยะต่อมาจะให้เอกชนดำเนินการเองเต็มรูปแบบ ด้านยุโรปให้เงิน 85,000 ล้านยูโร เพื่อปรับระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่ภาคขนส่งสีเขียว
ในขณะที่ประเทศไทยได้ปรับกรอบแผนพลังงานชาติ ปี ค.ศ. 2022 โดยจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งกรอบหลักได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 50% การปรับพลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานสีเขียว และมาตรการสนับสนุนการใช้รถอีวี โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มาให้การช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายซื้ออีวีลงคันละ 2 แสนบาท เพื่อให้รถอีวีมีราคาเทียบเท่ารถสันดาป
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าว ในหัวข้อ Carbon Neutral Roadmap ว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานต้องปรับตัวจากแรงกดดัน 4D+1E คือ Digitalization การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว Decarbonization การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก Decentralization การกระจายศูนย์ของแหล่งผลิตพลังงาน Deregulation การปรับปรุงกฎระเบียบด้านต่างๆ และ Electrification ความนิยมใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น
"เพื่อรับมือและเติบโตไปพร้อมกับความท้าทายดังกล่าว เอ็กโก กรุ๊ป จึงขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แนวคิด "Cleaner Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth" เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 2 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะกลาง การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% และลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี ค.ศ. 2030 ในขณะที่เป้าหมายระยะยาว คือการ บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี ค.ศ. 2050" นายเทพรัตน์ กล่าว
สำหรับโรดแมป เอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียน และ พลังงานสะอาด ทั้งในไทยและต่างประเทศ จนปัจจุบันมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียน รวม 1,424 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 22% จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 6,377 เมกะวัตต์ เช่น ในปี 2564 เอ็กโก กรุ๊ป ได้ลงทุนใน "เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง" (APEX) ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นฐานในการต่อยอดการลงทุนในโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดอื่นๆ ในอนาคต และบริษัทฯ มีแผนที่จะเข้าร่วมการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานด้วย
ขณะเดียวกัน เอ็กโก กรุ๊ป มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่ถือหุ้นอยู่ เช่น การใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน รวมถึงการศึกษาและพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor-SMR) ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีเสถียรภาพ และราคาเริ่มเแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องซื้อเทคโนโลยี จึงควรใช้โอกาสนี้ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปยังภูมิภาคอาเซียนได้ด้วย รวมถึงอยากเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เช่น ไฮโดรเจน ซึ่งมีเสถียรภาพ ราคาแข่งขันได้ และตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เพิ่มเติม นอกเหนือจากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50%
นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะผู้กำหนดทิศทางและให้ข้อเสนอแนะเรื่อง ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยดูเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกด้าน และมี พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มองว่าการแก้ปัญหาต้องวางแผนระยะยาว ทั้งการปรับตัวและการลด ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage - CCS) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilisation and Storage-CCUS) หรือไฮโดรเจน ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรง
นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า แต่ประเด็นตรงนี้คือ ความยากจะต้องพิจารณาทั้งมิติความคุ้มค่าและมิติด้านเวลา ที่จะนำเข้าเทคโนโลยีให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งมีการวางโรดแมปไว้ทั้งหมด เพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 นั่นคือ 74% ของการผลิตไฟฟ้ามาจาก พลังงานหมุนเวียน และยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า และเดินหน้า Net Zero ในปี ค.ศ. 2065
"การนำเข้าเทคโนโลยีในระยะแรก อาจจะเน้นในเรื่องของการประยุกต์ใช้ก่อน เพราะความคุ้มค่าอาจจะยังไม่คุ้ม ต้องปรับตัวเราเอง เช่น เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าฉลากสีเขียวเบอร์ 5" นายจิรวัฒน์ กล่าว
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า มีการประเมินว่าการปล่อยคาร์บอนจะไปสู่จุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2025 และจะค่อยๆ ลดลง หากมาตรการต่างๆ สัมฤทธิ์ผลจนปี ค.ศ. 2050 การปล่อยจะสมดุลกับการเก็บ ซึ่งอาจจะต้องมีตัวช่วยคือ เทคโนโลยีที่ทำให้การปล่อยถูกจำกัดลงด้วยเทคโนโลยี CCS หรือระบบ CCUS
ภาคที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ ภาคพลังงานไฟฟ้า หากจะทำให้สำเร็จจะต้องมีพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% และในภาคการขนส่งต้องใช้รถอีวี 70% รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เศรษฐกิจหมุนเวียน จะต้องเข้ามาแน่ รวมทั้งต้องมีเทคโนโลยี CCS และ CCUS มาช่วยด้วย
รวมถึงต้องมีมาตรการต่างๆ มาช่วยผลักดันหรือกระตุ้น เช่น ในต่างประเทศมี Carbon Pricing Instrument ผู้ปล่อยคาร์บอนต้องจ่ายหรือรับผิดชอบกับการปล่อยของตนเอง แม้ประเทศไทยยังไม่มีเรื่องนี้โดยตรง แต่อยู่ระหว่างทำ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีหน่วยงานระดับกรมแห่งใหม่เข้ามารองรับ
นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายต่างๆ ที่ได้ประกาศหรือให้สัญญาไว้
ภาคธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปสู่ภาคธุรกิจที่จะลงทุนในโครงการสีเขียวต่างๆ โดยจากคาดการณ์พบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022-2050 จะเกิดช่องว่างทางการเงินของภาคขนส่งพลังงาน อุตสาหกรรม และการเกษตร ที่ต้องการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ประมาณปีละ 2 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น ภาคการเงินจะมีบทบาทช่วยผลักดันภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาพรวมของประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่ พลังงานสะอาด ยังถือเป็นเรื่องใหม่ จึงเป็นข้อจำกัดของภาคธนาคาร ประเทศไทยจึงกำลังจัดประเภทกลุ่มธุรกิจต่างๆ ว่าเป็นประเภทสีเขียว สีส้ม หรือสีแดง และแต่ละกลุ่มต้องมีการปรับตัวอย่างไร ซึ่งภาคธนาคารจะใช้สิ่งเหล่านี้ เป็นเกณฑ์เพื่อช่วยสนับสนุนเม็ดเงินไปสู่กิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero