"เร่งปรับ-เร่งเปลี่ยน-เร่งปลูกป่า" กลยุทธ์หลัก ปตท. สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ถอดกลยุทธ์หลักตามวิสัยทัศน์ของ ปตท. "Powering Life with Future Energy and Beyond" หรือ "เร่งปรับ-เร่งเปลี่ยน-เร่งปลูกป่า" มุ่งขับเคลื่อนทุกชีวิตสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวนจนเกิดภัยพิบัติขึ้นหลายพื้นที่ เกิดเป็น ภาวะโลกรวน ที่ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เป็นไปตามปกติ บางประเทศเจอกับภัยแล้งหนักในรอบหลายปี ขณะที่อีกหลายประเทศกลับเจอฝนตกหนักจนทำให้เกิดอุทกภัย
รายงาน "ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก" (Global Climate Risk Index) จาก Germanwatch ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2021 รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2000 - 2019 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเพราะความผิดปกติของโลกหรือที่เรียกว่า "โลกรวน" มากถึง 475,000 คน จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกว่า 11,000 ครั้ง
สำหรับประเทศไทย ในรายงานเดียวกันยังระบุว่า เมื่อประเมินความเสี่ยงด้านจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 แสนคน มูลค่าความเสียหายคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อ GDP และจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติตลอดปี 2000 - 2019 พบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่ในลำดับ 9 จาก 193 ประเทศ ซึ่งหมายความว่า เรากำลังมีความเสี่ยงจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่สะสมมาเรื่อยๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
กลุ่ม ปตท. ในฐานะองค์กรที่สำคัญ จึงตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว ด้วยการมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยมีกลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการรองรับที่เป็นรูปธรรม จากกลยุทธ์หลักอย่างการ "เร่งปรับ-เร่งเปลี่ยน-เร่งปลูกป่า" ซึ่งประกอบไปด้วย
เร่งปรับ
เร่งปรับ ด้วยเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการ ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออก ภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ร่วมกัน การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization: CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้ พลังงานหมุนเวียน ในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้น โดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
เร่งเปลี่ยน
เร่งเปลี่ยนสู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับพอร์ตการดำเนินธุรกิจสู่ ธุรกิจสีเขียว โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ พลังงานสะอาด และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าเรื่องของพลังงาน สอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญของลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50%
เร่งปลูกป่า
การบำรุงรักษาป่า ร่วมกับภาครัฐและชุมชน มุ่งสู่การเพิ่มการดูดซับ ก๊าซเรือนกระจก จากชั้นบรรยากาศ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท. โดยมีแผนปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ แบ่งเป็น ปตท. 1 ล้านไร่ และกลุ่ม ปตท. 1 ล้านไร่
ปัจจุบันนี้ ปตท. เป็นองค์กรที่มุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero อย่างจริงจัง มุ่งยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน