ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงดูการจัดระเบียบผู้ค้าซอยวิภาวดี 62 พร้อมเสียงตอบรับเชิงบวก ยืนยันยังไม่ใช่ Hawker Centre
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงดูการจัดระเบียบผู้ค้าซอยวิภาวดี 62 พร้อมเสียงตอบรับเชิงบวก ยืนยันยังไม่ใช่ Hawker Centre
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่บริเวณซอยวิภาวดี 62 เพื่อติดตามการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ว่า ซอยนี้เป็นซอยหนึ่งที่มีความสวยงาม เขตทางกว้างและมีต้นไม้เขียวตลอดเส้นทาง เดิมบริเวณซอยนี้จะมีหาบเร่แผงลอยบนถนน บางส่วนอยู่ในซอย มีรถจอดเกะกะไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้รถติด ปัจจุบันเขตได้ดำเนินปรับพื้นที่ส่วนที่เป็นที่สาธารณะ ลาดยาง ทำที่ล้างมือ และจัดระเบียบผู้ค้า ซึ่งยังไม่ใช่การดำเนินการตามนโยบาย Hawker Centre เป็นการเพียงการจัดระเบียบเพื่อให้คนเดินได้
“Hawker Centre เหมือนที่ประเทศสิงคโปร์ จะเป็นการจัดระเบียบที่เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่านี้ มีที่ล้างจานให้ผู้ค้า ซึ่งขณะนี้ดูอยู่บริเวณด้านข้างศาลาว่าการกทม.1 เสาชิงช้า และตามที่มีผู้สมัครส.ส.ลงพื้นที่และแจ้งว่าจุดนี้ไม่มีคนเลย ขอชี้แจงว่าจุดนี้ไม่ได้มีการทำการค้าทั้งวัน จะมีการค้าขายสำหรับพนักงานออฟฟิศช่วงเวลาเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น ซึ่งเป็นการแบ่งปันพื้นที่ให้ผู้ค้าได้จอดรถทำการค้าให้เป็นระเบียบ ไม่เกะกะได้ จากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ก็พบว่าหลังจากดำเนินการสภาพในซอยดีขึ้นมาก สะอาด และผู้ที่ทำงานแถวนี้ก็ได้รับความสะดวก ไม่ต้องเดินหลบบนถนน ประชาชนมีที่ทำมาหากิน ค้าขายได้ในราคาไม่แพง ซึ่งคงไม่สามารถทำแบบนี้ได้ทุกซอย คงต้องดูในพื้นที่ที่สามารถทำได้ และหากเพิ่มเป็นที่ล้างมือ มีโต๊ะนั่ง มีหลังคา ก็จะกลายเป็น Hawker Centre ได้ รวมถึงได้เน้นย้ำหน่วยงานไปด้วยว่า ทุกโครงการไม่ต้องติดตั้งเป็นชื่อหรือรูปของตนเพราะจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ถือว่าเป็นผลงานที่ร่วมกัน หากจะดูว่าดีหรือไม่ดีให้ดูที่เนื้อหาไม่ใช่ชื่อ ซึ่งก็ต้องขอโทษผู้ที่ไม่เห็นด้วยด้วย” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว
จากนั้นผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวถึงภารกิจในช่วงเช้าที่ได้ไปลงพื้นที่บริเวณโลตัส ซอยสรงประภา เพื่อร่วมโครงการธนาคารอาหารและไม่เทรวม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับโลตัส นำอาหารที่โลตัสที่ไม่สามารถจำหน่ายได้แต่ยังสามารถบริโภคได้อยู่ มาถึงมือผู้ที่ต้องการ อย่างน้อยก็เป็นการแบ่งปันให้กับพนักงานกวาดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากระยะเวลาในการเน่าเสียของอาหารมีจำกัด ลดการนำอาหารไปเททิ้ง ในส่วนของอาหารที่บริโภคไม่ได้จริงๆ ก็จะนำไปทำปุ๋ย ซึ่งปัจจุบันกทม.มีปริมาณขยะเปียกมากถึง45% ซึ่งเมื่อเกิดการเน่าเหม็นจะทำให้เกิดกลิ่น และการคัดแยกทำได้ยาก ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไป กทม.เองก็ต้องเตรียมระบบโลจิสติกส์ที่ดี มีการขนถ่ายที่รวดเร็ว ที่สำคัญคือผู้บริโภค ที่ต้องเสียสละเวลาในการแยกขยะ