'ออโต้แบคส์' ทุ่มกว่า 500 ล้านบาท ขยาย 100 สาขา ในปี 2566
"ออโต้แบคส์" ทุ่มกว่า 500 ล้านบาท ขยาย 100 สาขา ภายในปี 2566 เร่งสร้างการรับรู้แบรนด์เชิงรุก ย้ำจุดยืนผู้ให้บริการมาตรฐานครบวงจร
นายรังสรรค์ พวงปราง ประธานกรรมการ บริษัท สยามออโต้แบคส์ จำกัด และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจ "ศูนย์บริการรถยนต์ออโต้แบคส์" ว่า ภายหลังจากที่ PTG เข้าซื้อหุ้นใน สยามออโต้แบคส์ รวมเป็น 76.52% ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ ถือเป็นผู้ดำเนินกิจการเต็มรูปแบบและมีความคล่องตัวและสามารถกำหนดทิศทางได้อย่างชัดเจน
"อย่างไรก็ตาม ภายหลังเข้าซื้อหุ้น และดำเนินกิจการอย่างจริงจัง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถขยายสาขาบริการออโต้แบคส์ปัจจุบันที่ 53 สาขา โดย 61% เป็นการเช่าพื้นที่นอกสถานที่บริการ และอีก 39% อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน PT ตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะขยายสาขาเป็น 100 สาขา ผ่านงบประมาณลงทุนราว 500 ล้านบาท" นายรังสรรค์ กล่าว
ทั้งนี้ ออโต้แบคส์ ตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการ Fast-Fit อันดับ 1 ภายในปี 2568 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีสาขาให้บริการ 350 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเข้าใช้บริการของลูกค้า อย่างไรก็ตามปัจจัยเศรษฐกิจ นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ย การท่องเที่ยวในประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกค้าในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคมาประกอบการตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการ ด้วยเช่นกัน
สำหรับการดำเนินการปี 2565 ที่ผ่านมา จากการขยายสาขาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดการขายรวมเพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีรายได้ปี 2565 กว่า 300 ล้านบาท ซึ่งสิ้นปี 2566 นี้ ออโต้แบคส์ ตั้งเป้ารายได้รวมอยู่ที่ 700 ล้านบาท และครึ่งปีที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 40-50% ส่วนสาขาเก่ามีการเติบโต 10-20%
"เราตั้งเป้าให้ศูนย์บริการรถยนต์ออโต้แบคส์ เป็นเสมือนระบบนิเวศของ PTG รวมถึงการที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจ non-oil ให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาธุรกิจน้ำมัน เราได้ขยายสาขาไปยังหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี กาญจนบุรี และนครราชสีมา เป็นต้น โดยบางจังหวัดสามารถขยายได้ถึง 2-3 สาขา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณรถยนต์ในจังหวัดนั้นๆ" นายรังสรรค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าว่าออโต้แบคส์นอกจากจะเปลี่ยนถ่ายนำมันเครื่องยางรถยนต์ หรือแบตเตอรี่แล้ว ยังให้คำแนะนำบริการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ และจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ครบวงจรตามมาตรฐานจากญี่ปุ่น ในราคาจับต้องได้ ถือเป็นหนึ่งในระบบนิเวศของ PTG ที่ต้องการสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้า
"ช่วงฤดูฝนนี้ ออโต้แบคส์ได้จัดโปรโมชันให้กับลูกค้า อาทิ ซื้อครบ 4 เส้น รับโปรโมชัน 3 แถม 1 และรับ Cash Back ใน Max Me, ส่วนลดในการซื้อสินค้าบริการมากถึง 60% หรือรับสิทธิประโยชน์เปลี่ยนยางรถยนต์โดยซื้อ 3 แถม 1 ทุกยี่ห้อเมื่อเป็นสมาชิก Max Plus เป็นต้น โดยจุดเด่นของผู้ให้บริการ Fast-Fit คือสามารถเข้ามาทำได้เลยทันที ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้าเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2566 นี้ จะเปิดให้ลูกค้าจองคิวรับบริการผ่านโมบายแอปพลิเคชัน รวมถึงทำธุรกรรมบริการต่างๆ ของกลุ่ม PTG" นายรังสรรค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการขยายสาขา ออโต้แบคส์ มีศูนย์ฝึกอบรมบริการฝีมือช่างตามมาตรฐานของออโต้แบคส์อยู่ที่สายไหม เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการให้กับช่างแต่ละสาขาให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยพนักงานช่างยนต์จะต้องผ่านการอบรม 30-45 วัน ก่อนส่งออกไปประจำสาขาโดยแต่ละสาขาจะมีทีมช่างประมาณ 5-6 คน ปัจจุบันมีจำนวนช่างราว 300 คน
นายรังสรรค์ กล่าวว่า แบรนด์ยางรถยนต์หลักที่มีให้บริการ อาทิ มิชลิน, Bridgestone, Yokohama หรือกู๊ดเยียร์ เป็นต้น และหากลูกค้าอยากได้ยี่ห้ออื่น อาทิ ยางรถยนต์สำหรับรถซุปเปอร์คาร์ ก็สามารถสั่งจองได้ในเวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ หรือหากเป็นแบรนด์อื่นๆ ที่มีมาตรฐานในประเทศไทย ออโต้แบคส์ก็สามารถหาให้ลูกค้าได้เช่นกัน
สำหรับภาพรวมตลาดบริการ Fast-Fit อยู่ที่ 35,000-40,000 ล้านบาท จากข้อดีของออโต้แบคส์คือ การมาพร้อมกับพันธมิตรและเป็น Ecosystem ของ PTG ดังนั้น ออโต้แบคส์จะไม่มองตัวเองว่าเป็นการขายสินค้าแต่จะเป็น Service ให้กับลูกค้า ซึ่งการทำธุรกิจค้าปลีกจะต้องมีสาขาที่ครอบคลุมลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย จะสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้า ดังนั้นอีก 2 ปี ที่ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ถือว่าเป็นความท้าทาย แต่เชื่อว่าเมื่อลูกค้ารู้จักและเข้ามาใช้บริการจะรับรู้ถึงความตั้งใจในการบริการของออโต้แบคส์ และยังคงเป็นลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการกับเราตลอดไป
"อีกหัวใจของการดำเนินธุรกิจคือ มองผู้ให้บริการ Fast-Fit เป็นพันธมิตร ไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง แต่จะเป็นศูนย์บริการที่เสริมกันและกัน เช่น การสต๊อกยางรถยนต์ก็ไม่จำเป็นต้องสต๊อกครบทุกรุ่นในทุกสาขา ถือเป็นการลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลัง เพราะภาพรวมราคาไม่ได้แตกต่างกัน จะแตกต่างกันตรงที่การให้บริการที่สามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ดังนั้น อีกจุดเด่นคือ จำนวนศูนย์บริการที่เพิ่มขึ้น และบริการที่ครอบคลุม" นายรังสรรค์ กล่าว
สำหรับแนวโน้ม ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ออโต้แบคส์ อยู่ระหว่างเติมเต็มความสามารถให้กับช่างยนต์โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของ รถอีวี จึงมองว่าอีก 3-5 ปี ถึงจะเริ่มมีรถอีวีเข้ามาใช้บริการตรวจเช็กสภาพแบตเตอรี่ EV นอกจากนี้สิ่งที่ต้องรองรับรถอีวีควบคู่กับบริการออโต้แบคส์คือ การได้เพิ่มสถานีชาร์จอีวีในศูนย์บริการออโต้แบคส์ โดยปี 2567 ตั้งเป้าติดตั้ง 10 แห่ง โดยจะเน้นพื้นที่ที่มีคอมมิวนิตีตามสภาพตลาดที่เติบโต
"การทำธุรกิจค้าปลีกจะเฉื่อยไม่ได้ ต้องวิ่งให้เร็วและมีลูกเล่น พร้อมปรับตัวรับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างสรรค์บริการให้ลูกค้าได้ประโยชน์ให้มากที่สุด" นายรังสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย