มะเร็งปากมดลูก รู้ก่อน ... ป้องกันได้!
มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายสำหรับผู้หญิงทุกคน โรคนี้ใช้เวลานานหลายปี ก่อนกลายเป็นมะเร็ง ฉะนั้น หากรู้ก่อน! ก็จะสามารถป้องกันได้
ผศ.นพ.สุทธิชัย แซ่เฮ้ง สูตินรีแพทย์เฉพาะทางมะเร็งวิทยานรีเวช และเฉพาะทางผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลหัวเฉียว ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ "มะเร็งปากมดลูก" ไว้ว่า โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus หรือ HPV สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ส่วนใหญ่เกิดจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV เป็นพาหะ มักพบในผู้หญิงอายุ 30 – 55 ปี โดยผู้หญิงถึงร้อยละ 80 มีโอกาสติดเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งไวรัสชนิดนี้จะใช้เวลาประมาณ 5 – 10 ปี ในการเปลี่ยนเซลล์ปากมดลูกให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเริ่มแรกผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติจนพัฒนาไปถึงขั้นร้ายแรง มีภาวะน้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย ปวดเชิงกรานและหลัง ขาบวม ท้องผูก ปัสสาวะเป็นเลือดหรือกลั้นปัสสาวะไม่หยุด ตกขาวผิดปกติ และมีเลือดออกทางช่องคลอด เช่น มีประจำเดือนนานจนผิดปกติ เป็นต้น
โรคมะเร็งปากมดลูก สามารถเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนทั้งที่เคยและไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ มักพบบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของผู้หญิงบริเวณปากมดลูก ช่องคลอด และอวัยวะเพศ โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีบุตรหลายคน สูบบุหรี่ รับประทานยาคุมติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการมีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
การรักษา โรคมะเร็งปากมดลูก ขึ้นอยู่กับระยะการป่วยและอาการของโรค ดังนี้
- ระยะก่อนมะเร็ง เป็นการผ่าตัดบางส่วนของปากมดลูกที่มีรอยโรคออกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า การใช้เลเซอร์จี้เซลล์ที่ผิดปกติออก และนัดติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
- ระยะมะเร็งที่1 และ 2 ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกเป็นการผ่าตัดเอาปากมดลูก เนื้อเยื่อรอบๆ ปากมดลูก มดลูก ช่องคลอดส่วนต้นและต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้นออกทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ การผ่าตัดนี้ต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น
- ระยะมะเร็งที่ 3 และ 4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามออกนอกปากมดลูกแล้ว การรักษาประกอบด้วยเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงและเนื้อเยื่อชั้นในรอบๆ มดลูก
ผศ.นพ.สุทธิชัย ย้ำว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ คือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยหรือเปลี่ยนคู่นอนหลายคน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองความผิดปกติของปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยการ ตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pep Test) และการตรวจหาเชื้อ HPV เพื่อหาเซลล์ผิดปกติที่อาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับการต่อต้านเชื้อ HPV โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9 - 45 ปี ในบางรายอาจมีอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน เช่น ปวดบวมหรือแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย หรือปวดกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามควรตรวจสุขภาพและตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี