ส่องความสำเร็จ เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ยกระดับทุเรียนไทย
ส่องความสำเร็จ เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ยกระดับทุเรียนไทย
“ทุเรียนไทย” เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นและยังมีแนวโน้มความต้องการมากขึ้นจากตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พบว่ามีปัจจัยและความเสี่ยงของการส่งออกทุเรียน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนอ่อน โรคพืช แมลงศัตรูพืช การขาดความรู้ความเข้าใจในการเข้าถึงเทคโนโลยีและเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี จึงจำเป็นที่ต้องสร้างความตระหนักรู้และเตรียมพร้อมให้แก่เกษตรกรไทย เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเกษตรดิจิทัล
กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชได้นำเทคโนโลยี Smart Sensors และระบบ IoTs มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการบูรณาการองค์ความรู้ตลอดกระบวนการการผลิตพืช องค์ความรู้ด้านวิศวกรรม และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งของหน่วยงานภายในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้แนวทาง “รูปแบบ (Model) การเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการผลิตพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ทั้ง 8 ด้าน ประกอบด้วย เทคโนโลยีด้านดิน เทคโนโลยีด้านพืชและอารักขาพืช เครื่องจักรกลการเกษตร การให้น้ำ เทคโนโลยีดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoTs) Big Data Platform และระบบช่วยตัดสินใจการผลิตพืช มายกระดับกระบวนการผลิตทุเรียน
การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการใช้ทรัพยากรในการผลิตพืชให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการตรวจวัดจากเซนเซอร์ทางการเกษตร ประมวลผล และควบคุมอัตโนมัติในการผลิต ตลอดจนการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับการทำการเกษตรให้กับเกษตรกร สำหรับการขยายผลเชิงพื้นที่ และเป็นต้นแบบการพัฒนาสู่พืชชนิดอื่นต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ตามนโยบายการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โครงการได้ดำเนินการจำนวน 2 แปลง ณ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี แอปพลิเคชันควบคุมระบบการให้น้ำทุเรียนผ่านสมาร์ทโฟน สามารถควบคุมการปิด-เปิดปั๊มน้ำ ควบคุมการปิด-เปิดโซลินอยด์วาล์วของประตูน้ำภายในสวนทุเรียน Dashboard การผลิตทุเรียน ที่แสดงค่าสถานะต่างๆ ภายในแปลงปลูก เช่น ระยะการเจริญเติบโตและการพัฒนาของทุเรียน ข้อมูลสภาพอากาศ คำแนะนำการดูแลรักษาทุเรียน ด้านการจัดการศัตรูพืช ธาตุอาหารพืช น้ำ สถานะการทำงานของอุปกรณ์เซนเซอร์ทางการเกษตรภายในแปลง รวมถึงการบันทึกกิจกรรมภายในแปลงปลูก เพื่อนำไปพัฒนาระบบช่วยวางแผนการผลิตทุเรียนต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน RainReport ที่สามารถรายงานการพยากรณ์การตกของฝนและสภาพอากาศภายในแปลงปลูกแบบระบุพิกัด ล่วงหน้า 2 วัน และการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสำรวจการเข้าทำลายของศัตรูพืชและการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำเฉพาะจุด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ทำให้เกษตรกรมีข้อมูลสภาพแวดล้อมภายในแปลงปลูก เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจการวางแผนจัดการสวน
จากนวัตกรรมยกระยะดับทุเรียนไทย ส่งผลทำให้ “ เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน” กรมวิชาการเกษตรรับรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประจำปี 2566