ความดันโลหิตสูง รับมือได้ แค่รู้ (หัว) ใจให้ดีพอ
"ความดันโลหิตสูง" เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ตัว หากปล่อยไว้นานอาจมีอาการแทรกซ้อน และอันตรายถึงชีวิตได้
จากข้อมูลสถิติ ในปี 2562 พบว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตถึง 17.9 ล้านคนต่อปี คิดเป็น 32% ของการเสียชีวิตทั่วโลก สำหรับประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด เป็น 2 ใน 5 อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ในปี 2562 โดยพบว่า เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ในอัตรา 53 ต่อประชากรแสนคน และโรคหัวใจขาดเลือด ในอัตรา 43.7 ต่อประชากรแสนคน
ฐานข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรค ความดันโลหิตสูง มากถึง 14 ล้านคน ประชากรไทย 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคความดันโลหิต แต่มากกว่า 7 ล้านคน ที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและยังไม่ได้มารับการรักษา เนื่องจากความดันโลหิตเป็นภัยเงียบ ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว เนื่องจากโรคนี้ไม่มีอาการเตือน และหากปล่อยไว้นานหรือไม่ได้รับการรักษาจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต จากเส้นเลือดสมองตีบตันหรือแตก หัวใจล้มเหลว หัวใจวายจากภาวะเส้นเลือดที่หัวใจอุดตัน หัวใจโต หัวใจล้มเหลว ไตวาย
การวินิจฉัยจึงไม่ใช่การรอมีอาการ แต่เป็นการหมั่นตรวจเช็กความดันโลหิตสม่ำเสมอ ความดันโลหิตในระดับปกติขณะพักคือ 120-130 / 60-80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันโลหิตเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าเริ่มเข้าข่ายความดันโลหิตสูงกว่าปกติ ถ้าสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็นความดันโลหิตสูงควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษา
นายแพทย์ ไพศาล บุญศิริคำชัย อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวถึงการรักษาผู้ที่มี ความดันโลหิตสูง ว่า แพทย์จะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วย โดยแนะนำให้ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก ลดการกินเค็ม ลดความเครียด ถ้าความดันโลหิตไม่ลดลงตามเป้าหมาย หรือผู้ป่วยความดันสูงที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยแล้ว แพทย์จะพิจารณาเริ่มการรักษาด้วยการใช้ยา โดยยาอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทานยาสม่ำเสมอ ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตถึงเป้าหมายได้ด้วยยาชนิดเดียว แพทย์จะเพิ่มทั้งขนาดและจำนวนชนิดของยา ซึ่งในระยะยาวมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยามากขึ้น เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ หัวใจเต้นช้าเกินไป อ่อนแรง เหนื่อยง่าย ค่าไตเสื่อมลง อาจต้องรับการรักษาทางเลือกอื่นเพิ่มเติม
ศาสตราธิคุณ นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม แพทย์หัวหน้าศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวเสริมถึง กลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนถึงได้รับการรักษาด้วยยาหลายชนิดมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ ปัจจุบันมีวิธีการรักษาใหม่ ที่จะช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ ด้วยวิธีจี้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ไต ซึ่งสามารถทำได้ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท อายุน้อยกว่า 80 ปี ได้รับยารักษาความดันมากกว่า 3 ชนิด โดยหนึ่งในนั้นเป็นยาขับปัสสาวะ และได้รับยามาต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผลการการศึกษายืนยันได้ว่า การที่ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากเกินไปจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตของร่างกายสูงขึ้นได้ เพราะว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างสมอง หัวใจ ไต หลอดเลือดที่ไตผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ หากต้องการให้ความดันโลหิตลดลงจะต้องทำลายระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ โดยการรักษา ความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมยากด้วยการจี้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ไต เป็นการใช้สายอุปกรณ์พิเศษสวนผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบและสอดสายผ่านเข้าไปยังเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไต หลังจากนั้นการใช้ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุจี้ทำลายร่างแหเส้นประสาทอัตโนมัติที่อยู่ในผนังของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตทั้งสองข้าง โดยที่ไตทั้งสองข้างนั้นจะมีเส้นประสาทเส้นเล็กๆ ที่พันอยู่รอบหลอดเลือดแดงที่ซึ่งระบบประสาทอัตโนมัตินี้จะควบคุมการหดและคลายตัวของหลอดเลือดไต รวมถึงควบคุมการทำงานของฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย โดยการคั่งของโซเดียมจะส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงขึ้น
การรักษาด้วยวิธีจี้เส้นประสาทอัตโนมัติ เป็นการรักษาที่ใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยเพียง 1-2 วัน หลังการรักษา ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้าน สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติในเวลาที่รวดเร็ว และผู้ป่วยจะสามารถควบคุมความดันให้ปกติ ลดการรับประทานยาลง หรือไม่ต้องทานยาอีกต่อไป
ทั้งนี้ การจี้ระบบประสาทอัตโนมัติเป็นการรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมยาก ที่ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ แต่มีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบางราย (ส่วนน้อย) มีสาเหตุจากความผิดปกติอื่น เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต หลอดเลือดแดงเอออร์ต้าตีบ ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากรักษาสาเหตุแล้วความดันมักกลับมาปกติโดยไม่ต้องใช้ยาลดความดันโลหิตในระยะยาว
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดบริการในปี 2563 ดูแลรักษาผู้มีภาวะผิดปกติด้านหัวใจโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์การทำหัตถการรักษา โรคหัวใจและหลอดเลือด และแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจ มีประสบการณ์รักษาโรคยากและซับซ้อนมามากมาย เช่น
- เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดช่องอก หรือทาวี (Transcatheter Aortic Valve Implantation : TAVI) จำนวน 5 เคส
- ใส่เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) สูงสุดจำนวน 150 วัน
- ผ่าตัดหัวใจแบบเปิดช่องอกด้วยเทคนิค Coronary artery bypass grafting และ Valve surgery รวมทั้งสิ้น 19 ราย