ถอดแนวคิดทายาทธุรกิจ 'เอกชัยสาลี่สุพรรณ' ขนมดังระดับเชลล์ชวนชิม
ถอดแนวคิดทายาทธุรกิจ ‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ’ จากร้านขนมเล็ก ๆ สู่ธุรกิจร้านของฝากเอกลักษณ์เมืองสุพรรณ ขนมดังระดับเชลล์ชวนชิม
หากพูดถึงจังหวัดสุพรรณบุรี หลายท่านจะนึกถึงขนมจากร้านขายของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ใครผ่านไปเยี่ยมเยือนจะต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านอย่าง เอกชัยสาลี่สุพรรณ แบรนด์ขนมที่ขึ้นชื่อเรื่องความหอม เนื้อนุ่ม รสชาติคุ้นเคย และชื่อเสียงที่คุ้นหู การันตีโดยกูรูอาหารชื่อดัง เรามาเจาะลึกแนวคิดธุรกิจครอบครัวที่ส่งมอบคุณค่าของขนมไทย จนประสบความสำเร็จให้ธุรกิจอย่างยั่งยืน
พรพิมล แก้วศรีงาม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกชัยสาลี่สุพรรณ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำขนมขายว่า เนื่องจากครอบครัวมีรายได้ค่อนข้างน้อย พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูก 3 คน พ่อทำกิจการร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาด 1 คูหา อยู่ในตลาดทรัพย์สิน จังหวัดสุพรรณบุรี จนเมื่อปี 2511 แม่เริ่มทำขนมขายและได้พัฒนาสูตรขนมสาลี่ มีเอกลักษณ์ทั้งรสชาติและความนุ่มเนียนของเนื้อขนม กลายมาเป็นร้านต้นตำรับ ชื่อร้าน "เอกชัยสาลี่สุพรรณ" ซึ่งเป็นชื่อของพ่อ จนได้รับเครื่องหมายรับประกันคุณภาพความอร่อย "เชลล์ชวนชิม" จาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เมื่อปี 2523 และกลายเป็นแบรนด์ที่เรารู้จักกันดีจนถึงปัจจุบัน
หลายคนอาจเคยสงสัยว่า ขนมสาลี่ มีที่มาของชื่อนี้อย่างไร ซึ่ง พรพิมล เฉลยว่า ชื่อขนมมาจากวัตถุดิบหลักคือ "แป้งสาลี" เมื่อเรียกชื่อสาลีหลายครั้งก็เพี้ยนเป็น "สาลี่" มาถึงปัจจุบัน เป็นขนมจากแป้งที่มีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม เปรียบเหมือนเค้กแบบไทย ไม่ใช้เตาอบแต่เป็นการนึ่ง ใช้ไข่แทนเนย ทำให้ขนมขึ้นฟู อีกทั้งเมื่อรับประทานจะได้รับโปรตีนจากไข่ ซึ่งดีกว่าการรับประทานเนย ในสมัยก่อนจะใช้ไข่เป็ดแต่แม่มีความชำนาญเรื่องการทำขนมเค้ก จึงลองปรับสูตรมาใช้ไข่ไก่เหมือนการทำเค้กแทนเพื่อลดกลิ่นคาว และช่วยเพิ่มความหอมมากขึ้น
"หากย้อนไปเมื่อปี 2537 การใช้เงินลงทุนถึง 30 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก แต่เพราะพ่อมีประสบการณ์การทำธุรกิจจากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้มีพื้นความรู้ด้านการค้าขาย เช่น การบริหารจัดการอย่างไรให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ รวมถึงความกล้าและมั่นใจในการลงทุน ขณะที่แม่ชอบทำขนม และเรียนรู้เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ท่านทั้ง 2 จึงตัดสินใจเลือกทำธุรกิจนี้ เริ่มจากร้านขนมเล็กๆ กลายเป็นของฝากชื่อดัง พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิตเป็นโรงงานผลิตขนาดใหญ่ และเปิดร้านศูนย์รวมของฝากอยู่ริมถนนสายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ในปัจจุบัน"
พรพิมล กล่าวว่า อีกไอเดียจากแม่ที่สร้างเอกลักษณ์ให้ร้าน เอกชัยสาลี่สุพรรณ คือการออกแบบสไตล์ "ทรงไทย" เพราะมองว่าอาคารทรงไทยเป็นเอกลักษณ์ของเมืองสุพรรณ สร้างภาพจำให้กับผู้มาเยือน ขณะเดียวกันลูกค้ายุคนี้ชอบอะไรใหม่ๆ เราจึงปรับให้เป็นร้านของฝากกึ่งคาเฟ่ มีบริการอาหาร เครื่องดื่ม และเป็นจุดนัดพบของลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้รับบริการมากกว่าแค่แวะมาซื้อของฝากอย่างเดียว แบรนด์ขนมสาลี่สุพรรณมาไกลถึงวันนี้ เป็นเพราะเราไม่ได้มีสินค้าเด่นแค่ตัวเดียว ยังมีขนมอื่นๆ เช่น กลุ่มขนมลูกเต๋า ขนมเปี๊ยะนมข้น เป็นที่นิยมของลูกค้า ด้วยความอร่อยของแป้งและไส้ที่ไม่เหมือนใคร ขนมลูกเต๋าไส้ถั่วผสมแห้ว โดดเด่นด้วยกลิ่นหอมของแป้งที่ผ่านการย่างและความหอมของกลิ่นกะทิสดที่เป็นส่วนผสมของไส้ รวมถึงแห้วที่ยิ่งโดนความร้อนจะยิ่งหวาน กรอบ เป็นสูตรซึ่งที่อื่นไม่มี
"การทำธุรกิจหากไม่คำนวณต้นทุนให้ดีจะมีโอกาสผิดพลาดสูง แต่เนื่องด้วยเราเรียนจบด้านบัญชีมา ทำให้สามารถจัดการด้านนี้ให้กับแม่ได้ เราใส่ใจเรื่องการดูแลพนักงาน เพราะคนถือเป็นต้นทุนหลักในการทำธุรกิจของ SME มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ปัจจุบันเรามีพนักงานกว่า 100 คน อาจเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูง แต่จะเกิดความคุ้มค่าหากเราได้ทีมงานที่แข็งแกร่ง การทำขนมสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การบริหารครัว ถือเป็นเรื่องยาก ต้องมีการควบคุมต้นทุนพร้อมการรักษารสชาติให้คงที่ เรามีการทดสอบแม่ครัวในทุกเดือนเพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของขนม การเป็นเจ้าของร้านถือเป็นความท้าทาย มีความเครียด มีความกดดัน แต่เราเลือกบริหารงานด้วยความสนุก ทำให้พนักงานก็มีความสุขในการทำงานไปด้วย"
พรพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า หากย้อนไปในปี 2525 เราถือเป็นรายแรกๆ ที่นำเข้าเครื่องจักรมาจากญี่ปุ่น แต่ธุรกิจ SME จะมีข้อจำกัดคือ เครื่องจักรจะเหมาะกับการผลิตในปริมาณที่มาก หรือมีการส่งขายตามโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ แต่กำลังการผลิตของเราไม่ได้เยอะขนาดนั้น ซึ่งถ้าจะเติบโตโดยที่ยังไม่พร้อมเราคิดว่า ไม่ดีกว่า การทำธุรกิจต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดอยู่กับที่
"ตอนนี้อยู่ช่วงของการถ่ายทอดให้ทายาทธุรกิจรุ่นลูก Gen 3 การส่งมอบธุรกิจเราต้องให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม เด็กรุ่นใหม่จะมีความคิดเป็นของตัวเองสูง ซึ่งเขามาปรึกษาเราว่าอยากทำแบรนด์ของตัวเองเพิ่ม เราเห็นด้วยและอยากสนับสนุนส่งเสริมให้เขาได้ลองทำ จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โปรเจกต์เหล่านี้อาจจะเป็นการต่อยอดในปีถัดไป การจัดการด้านการผลิต เราใช้ระบบ Overall Equipment Effectiveness (OEE) มีการเก็บ Input – Output เช่น หากทำขนม 100 ชิ้น มีส่วนที่ต้องทิ้ง 20 ชิ้น ต้องหาวิธีการเพื่อลดของเสีย และเพิ่มการควบคุมต้นทุนให้ดีขึ้น หรือหากมียอดการคืนสินค้า เราจะส่งฝ่ายขายเข้าไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุและแก้ปัญหาให้ตรงจุดตามขั้นตอน แล้วมาดูว่าเปอร์เซ็นต์ความเสียหายลดลงได้มากน้อยแค่ไหนหรือไม่ ช่องทางการขาย เราได้เริ่มทำออนไลน์ตั้งแต่ก่อนโควิด ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันดิลิเวอรี Food Panda, Grab รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ Lazada, Shopee ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขาย และลดปัญหาจากการที่หน้าร้านสะดุดจากสถานการณ์โควิด แต่มีข้อควรระวังคือ เราต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจตามมา เช่น คุณภาพ ความรวดเร็ว ความถูกต้องในการจัดส่ง หรือกรณีลูกค้ารีวิวในเชิงลบ เราจะมีวิธีบริหารจัดการได้อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพลักษณ์องค์กร"
สถานการณ์ปัจจุบัน คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เราจึงเริ่มมองหาสิ่งที่ตอบโจทย์กลุ่ม Healthy เช่น ลดการใช้น้ำตาล โดยใช้สารทดแทนความหวาน หรือคิดเมนูอาหารที่ลดคาร์โบไฮเดรตแต่เพิ่มสารอาหารอื่นได้มากกว่า อาจจะเพิ่มการถนอมอาหารจากธรรมชาติมากขึ้น จากขนมอาจพัฒนาให้เป็นขนมที่รับประทานแล้วอิ่มท้องด้วย เช่น ซาลาเปา เป็นต้น
พรพิมล กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวคิดของเราไม่ใช่แค่ขายของให้ได้เงิน แต่เป็นการคำนึงถึงการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ ความไว้ใจระหว่างคนขายกับคนซื้อ คิดวิธีการให้ลูกค้าซื้อไปแล้วอยากกลับมาซื้อใหม่ รวมทั้งต้องพยายามต่อยอดสินค้าไปพร้อมกับความต้องการของลูกค้า เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้าตามช่วงเวลาด้วย เราสอนลูกว่า การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องเรียนรู้อยู่เสมอ หาประสบการณ์ด้วยตัวเอง อุปสรรคข้างหน้าจะเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ด้วยความสามารถที่มีอยู่ เพราะการบริหารธุรกิจ...ไม่มีสูตรสำเร็จ
รู้จัก บริษัท เอกชัยสาลี่สุพรรณ จำกัด เพิ่มเติมได้โดย คลิก