รู้จัก “ชีวภัณฑ์” ควบคุมโรค-แมลง ใช้อย่างไรให้ได้ผล

รู้จัก “ชีวภัณฑ์” ควบคุมโรค-แมลง ใช้อย่างไรให้ได้ผล

รู้จัก “ชีวภัณฑ์” ควบคุมโรค-แมลง ใช้อย่างไรให้ได้ผล

นางเสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึง “ชีวภัณฑ์”  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมศัตรูพืชที่ผลิตและพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิต นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติที่เรียกว่า ศัตรูธรรมชาติ (natural enemies) ได้แก่ จุลินทรีย์ ( Pathogens) ตัวห้ำ (Predators) และตัวเบียน (Parasites) นำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ซึ่งข้อดีในการใช้ศัตรูธรรมชาติจะมีความเฉพาะเจาะจงกับเหยื่ออาศัย ก็คือจะทำลายเฉพาะศัตรูเป้าหมายเท่านั้น ดังนั้นจะมีความปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ไม่มีพิษตกค้าง ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยจากสารพิษ

กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช มีงานวิจัยในเรื่องชีวภัณฑ์ต่างๆ มากมาย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องการผลิตและการใช้  “ชีวภัณฑ์” ให้หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่อยู่ในส่วนภูมิภาค คือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งมี 8 เขต และศูนย์เครือข่ายซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ  ซึ่งแบ่งเป็น  3 กลุ่ม  ได้แก่  ชีวภัณฑ์ในกลุ่มจุลินทรีย์  , ชีวภัณฑ์ในกลุ่มตัวห้ำ  และ ชีวภัณฑ์ในกลุ่มตัวเบียน

รู้จัก “ชีวภัณฑ์” ควบคุมโรค-แมลง ใช้อย่างไรให้ได้ผล

ชีวภัณฑ์ในกลุ่มจุลินทรีย์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ  จุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช อาทิ ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง ควบคุมด้วงหมัดผัก และด้วงงวงมันเทศ , หรือเชื้อแบคทีเรียบีที จะใช้ควบคุมหนอนศัตรูพืช หรือเชื้อไวรัสเอ็นพีวี ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับบีที แต่ว่ามีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า  กรมวิชาการเกษตรแนะนำไวรัสเอ็นพีวี ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ DOA BIO V1 ใช้ควบคุมหนอนกระทู้หอม,  DOA BIO V2 ใช้ควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้าย,  DOA BIO V3 ใช้ควบคุมหนอนกระทู้ผัก  และจะมีเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ใช้ควบคุมหนอนด้วงแรด ศัตรูของมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน

นางเสาวนิตย์  กล่าวว่า ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นจุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมโรคพืช ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบีเอส (Bacillus subtilis) ซึ่งมี 3 ชนิด คือ Bs-DOA 24 ใช้ควบคุมโรคเหี่ยว ในพืชตระกูลขิง, BS-DOA 20W1 ใช้ควบคุมโรคใบจุด ในพืชตระกูลกระหล่ำ, Bs-DOA 20W33 ใช้ควบคุมโรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้งในพริก

 

นอกจากนี้ยังมี “เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี” ใช้ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมใน พริก ฝรั่ง มันฝรั่ง และโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน เชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้ควบคุมโรคตายพรายของกล้วย  นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมสัตว์ศัตรูพืช ได้แก่ เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู ใช้ในการกำจัดหนูศัตรูพืชที่อยู่ในแปลงปลูกพืช หรืออยู่ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์

รู้จัก “ชีวภัณฑ์” ควบคุมโรค-แมลง ใช้อย่างไรให้ได้ผล

ส่วนของกลุ่มตัวห้ำ (Predators) ก็คือ แมลงกินแมลง ได้แก่ มวนพิฆาต ใช้ควบคุมหนอนศัตรูพืชได้หลายชนิด มวนตัวห้ำ ทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย สามารถกิน เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว  แนะนำให้ปล่อยในโรงเรือนที่ปลูกเมล่อน และมะเขือเทศ และแมลงหางหนีบ ควบคุมพวกไข่และหนอนผีเสื้อ ขนาดเล็ก , แมลงช้างปีกใส เป็นตัวห้ำ เฉพาะตัวอ่อนเท่านั้น ใช้ควบคุมแมลงปากดูดขนาดเล็ก เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ไรแดง และ เพลี้ยหอย  เป็นต้น

สำหรับกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่ม ตัวเบียน (Parasites) จะเป็นกลุ่มค่อนข้างเฉพาะเจาะจงต่อเหยื่ออาศัย เนื่องจากในช่วงที่เป็นตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในเหยื่อโดยตรง เพราะฉะนั้นจะมีความเฉพาะเจาะจงค่อนข้างสูง ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร ที่แนะนำมีแตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว,แตนเบียนดักแด้แมลงดำหนามมะพร้าว ใช้ควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าว ในระยะที่เป็นตัวหนอนและดักแด้ ซึ่งแมลงดำหนาม กินส่วนใบอ่อนของมะพร้าว และจะมีแตนเบียนหนอนหัวดำมะพร้าว  ควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งกินใบแก่ของมะพร้าว และมีแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา ควบคุมไข่ของหนอนผีเสื้อต่างๆ

ปัจจุบันมีเอกชนที่สนใจนำองค์ความรู้ไปผลิตใช้ในเชิงการค้า มี 2 ชนิดคือ  ชีวภัณฑ์บาซิลลัส ซับทิลิส BS-DOA 24 ที่ใช้ควบคุมโรคเหี่ยวในพืชตระกูลขิง และ ชีวภัณฑ์ราเขียวเมตาไรเซียม DOA-M5 ควบคุมด้วงแรด เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของมะพร้าว และปาล์มน้ำมัน

ผลงานชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเป็นแนวทางสำคัญที่ตอบสนองต่อนโยบายให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมีโดยปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย  และเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

รู้จัก “ชีวภัณฑ์” ควบคุมโรค-แมลง ใช้อย่างไรให้ได้ผล