NPS จับมือ มทร.อีสาน ทำวิจัยแปลงเถ้าลอยเป็นคอนกรีตบล็อก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
NPS จับมือกับ มทร.อีสาน ทำวิจัยแปลงเถ้าลอยเป็นคอนกรีตบล็อก หวังต่อยอดส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ทำโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสมของเถ้าลอยนำมาผลิตเป็นคอนกรีตบล็อก หวังสร้างทางเลือกใหม่ในการนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดเถ้าลอย และยังสามารถต่อยอดขยายความรู้สู่ชุมชนเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เชิงวัสดุก่อสร้างจำหน่ายได้ในอนาคต
ธนงศักดิ์ ศรีสองเมือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการผลิตและเทคโนโลยี บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ได้ให้การต้อนรับ ผศ.ดร.เกียรติสุดา สมนา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมคณะวิจัยเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบผลิตผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจากเถ้าลอย ณ บริเวณที่ตั้งบริษัทฯ ในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
ธนงศักดิ์ กล่าวถึงโครงการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ ว่า มีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับเถ้าลอย ซึ่งแต่เดิมเป็นผลพลอยได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าที่บริษัทฯ ต้องส่งไปกำจัดทิ้งได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยมีบริษัท อินทิเกรทเต็ด รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ จำกัด (IRC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ NPS ทำวิจัยร่วมกับ มทร.อีสาน และยังได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการพัฒนาสูตรการผลิตผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสมของเถ้าลอย ได้แก่ อิฐบล็อกไม่รับน้ำหนัก บล็อกประสานปูพื้น และขอบคันหิน
"การวิจัยนี้เป็นทางเลือกใหม่ในการหาทางออกให้กับวัสดุเหลือใช้ที่บริษัทฯ มีอยู่ให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในปริมาณมากที่สุด รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดเถ้าลอย และเป็นแนวทางสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงวัสดุก่อสร้างจำหน่ายในอนาคตเพื่อที่จะกลับมาเป็นรายได้ให้กับบริษัทในเครือฯ ถือเป็นความภูมิใจของส่วนงานวิจัยและพัฒนาของแผนก Water and Waste Management ของ IRC ที่ได้มีส่วนสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กร สังคม ประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแนวคิดที่ NPS ให้ความสำคัญมาโดยตลอด"
ผศ.ดร.เกียรติสุดา สมนา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวถึงขั้นตอนการทำวิจัยว่า คณะทำงานได้นำเถ้าลอยจากโรงไฟฟ้า NPS มาทดแทนปูนซีเมนต์บางส่วนในการผลิตผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเถ้าลอยนั้นมีคุณสมบัติเป็นวัสดุปอซโซลานซึ่งมีความสามารถในการเชื่อมประสานคล้ายกับปูนซีเมนต์
"เรานำปูนซีเมนต์และเถ้าลอยเป็นวัสดุเชื่อมประสาน ทำการผสมกับหินฝุ่น ทรายและน้ำ แล้วขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์และใช้เวลาการบ่มสูงสุด 28 วัน แล้วทดสอบตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ จากการทดลองพบว่า อิฐบล็อกชนิดไม่รับน้ำหนักใช้เถ้าลอยผสมได้สูงสุด 11.7% ต่อก้อน บล็อกประสานปูพื้นใช้เถ้าลอยผสมได้สูงสุด 14.3% ต่อก้อน และขอบคันหินใช้เถ้าลอยผสมได้สูงสุด 9.2% ต่อก้อน และผลทดสอบค่ากำลังอัดของทุกผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก.ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ จึงกล่าวได้ว่า เถ้าลอยมีคุณสมบัติในการเชื่อมประสานคล้ายปูนซีเมนต์ และที่สำคัญก็คือ สามารถนำมาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ในการผลิตผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างได้มากถึง 50-70% ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากเถ้าลอยได้อย่างคุ้มค่า"
ภายหลังจากการวิจัย คณะอาจารย์ มทร.อีสาน ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดระดับนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2565 ในชื่อ Green Pavement From Hight Volume Fly Ash และสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองแดงมาได้ และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังได้ขยายผล โดยการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการทำผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างให้แก่พนักงานของ NPS นอกจากนี้ยังมีแผนเตรียมจะขยายการให้ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ผู้ประกอบการด้านวัสดุก่อสร้าง และผู้รับเหมา รวมถึงสถานศึกษาที่สนใจ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นถึงศักยภาพของเถ้าลอยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแค่ของเหลือใช้ แต่ในวันนี้กลับมามีมูลค่า สามารถนำมาสร้างงานสร้างอาชีพได้แล้ว