'ศุภชัย เจียรวนนท์' ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนประเทศ บนเวที 'GCNT Forum 2023'
"ศุภชัย เจียรวนนท์" ประกาศเจตนารมณ์บนเวที "GCNT Forum 2023" เน้นย้ำการสร้างคน สร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน รองรับการก้าวสู่ยุค 5.0 ชี้การพัฒนา "คน" หรือ "ทุนมนุษย์" ของไทย รอไม่ได้อีกต่อไป
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT กล่าวว่า การประชุม GCNT FORUM จัดขึ้นทุกปี เพื่อกำหนดทิศทาง แลกเปลี่ยนมุมมองด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของสมาชิก โดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มีสมาชิกที่มาจากทั้งภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนกว่า 130 องค์กร และพร้อมใช้โอกาสนี้ประกาศเจตนารมณ์ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ รวมถึงระดมสมองเพื่อเตรียมการประชุมด้านความยั่งยืนสำคัญระดับโลก เช่น การประชุม COP28 ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า
"ผมภูมิใจที่ได้จะเรียนว่า การประกาศเจตนารมณ์ของสมาชิกสมาคมฯ ในแต่ละปี นำไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง ในการนี้ผมขอชื่นชมสมาชิกสมาคมฯ กว่า 50 องค์กร คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของสมาชิกเมื่อปีที่แล้ว ที่ได้ตั้งเป้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070 สอดคล้องกับการประกาศเจตนารมณ์ของสมาคมฯ และช่วยกำหนดเป้าหมายของประเทศไทย สำหรับการประชุม COP27 จนปัจจุบัน ประเทศไทยมีองค์กรเกือบหนึ่งร้อยองค์กร ที่ได้ตั้งเป้า Net Zero แล้ว ดังนั้นการที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติมามอบนโยบาย และเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ในวันนี้ จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบายความยั่งยืนของประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยพื้นฐานการพัฒนาประเทศคือ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ทั้ง 17 ข้อ"
นายศุภชัย กล่าวต่อไปว่า การประชุม SDGs Summit ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมในนามของนายกสมาคมฯ โดยประชาคมโลก ต่างกังวลกับการบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ข้อ ที่เดินหน้าอย่างล่าช้า กล่าวคือ เพียงร้อยละ 12 ของเป้าหมายเท่านั้นที่เดินหน้าตามแผน ส่วนเป้าหมายอีกร้อยละ 30 ไม่คืบหน้าหรือต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อปี ค.ศ. 2015 ซึ่งทุกคนต่างร่วมกันค้นหาปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ข้อ ให้ทันเวลาอีก 7 ปีข้างหน้า ทั้งเรื่องเงินทุน ภาวะผู้นำ ตลอดจน เทคโนโลยี และนวัตกรรม
"ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจยังไม่มีการกล่าวถึงมากนัก นั่นก็คือการเตรียมความพร้อมของคนหรือทรัพยากรมนุษย์ที่นอกจากจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงแล้ว ยังจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคต่อไป หรือยุค 5.0 เกิดคำถามว่า ยุค 5.0 คืออะไร ปัจจุบันโลกอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการประมวลข้อมูล โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน"
นายศุภชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า AI หยิบยื่นทั้งโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาจทำให้คนเป็น Superhuman แต่มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังตัวอย่างของ อาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจต่อยอดไปถึงสงครามทางไซเบอร์ หรือสงคราม AI มีผลรุนแรงที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ หากเราใช้ AI โดยปราศจากคุณธรรมและธรรมาภิบาลกำกับ ดังนั้นคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสอดคล้องกับหลักการความยั่งยืนว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงจะเป็นคุณค่าสำคัญ เพิ่มเติมจากยุค 4.0 เพื่อกำกับการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เราอาจเรียกยุค 5.0 ใหม่ที่เราควรสร้างร่วมกันนี้ว่า Sustainable Intelligence-Based หรือ SI Society แปลว่า "สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน" หรือยุค "SI over AI" และเราจำเป็นต้องเตรียมคนให้พร้อม สำหรับยุค 5.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้น
"เราต้องเตรียมความพร้อมเรื่องคนสำหรับเศรษฐกิจและสังคมสู่ยุค 5.0 ที่เร่งรัดเข้ามาแล้ว ดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ระดับโลกต่างชี้ไปในทางเดียวกันว่า ไทยต้องลงมือและเร่งมือพัฒนาทุนมนุษย์ตั้งแต่วันนี้ก่อนจะสายเกินไป ปัจจุบันการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยและความพร้อมต่ออนาคตยังถูกประเมินอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าขนาดของ GDP มาก ไทยยังเผชิญข้อท้าทายหลายประการ อาทิ ระดับความรู้แนวลึก และทักษะด้านการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นการพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ของไทย รอไม่ได้อีกต่อไป"
นอกเหนือจากนโยบายของภาครัฐ รวมทั้งกิจกรรมของภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆ ที่ดำเนินอยู่อย่างดีแล้วในปัจจุบัน "นายศุภชัย" เสนอแนวทางเพิ่มเติมที่น่าจะช่วยเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับยุค 5.0 มุ่งสู่ "สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน" ดังนี้
- นักเรียน นักศึกษา : ที่อยู่ในระบบกว่า 12.5 ล้านคน ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก้ปัญหา เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง หรือ Action-Based Learning เสริมกิจกรรมแบบ Extra Curricular เพื่อสร้าง นักสำรวจและทดลอง หรือ Explorer เรียนรู้เพิ่มเติมด้วยคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กประจำตัวที่โรงเรียนให้ยืม พร้อมโปรแกรมคัดกรองเนื้อหา รวมถึงเรียนหลักสูตรที่ต้องตอบสนองทั้งความสนใจของผู้เรียน และความต้องการของตลาดแรงงาน เพิ่มความสามารถในการปรับตัวด้วย Growth Mindset กล่าวคือ ได้รับการบ่มเพาะจิตสำนึกแห่งความยั่งยืน
- ครูผู้สอน : ต้องปรับบทบาทจากผู้สอน หรือ Instructor เป็น "โค้ช" ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ หรือ Facilitator เพื่อบ่มเพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยมีตัวชี้วัดประกอบการจัดทำรายงานประเมินผลงานของครูที่ส่งเสริมความโปร่งใส โดยบทบาทของครูผู้สอน ไม่ได้จำกัดแต่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น ภาคเอกชนมีบทบาทนี้ได้ เช่น การจัดกิจกรรมเป็นฐานหรือศูนย์การเรียนรู้ในลักษณะ Action-Based หรือ Experience-Based Learning สอดคล้องกับ SDGs ข้อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเรื่องคุณธรรมและธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน นอกจากนั้นต้องวางกรอบความคิดใหม่ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพราะกระบวนการเรียนรู้เรื่องคุณธรรม เรื่องธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ซึ่งเชื่อมโยงใกล้ชิดกับหลักการความยั่งยืน จะถูกถ่ายทอดผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ช่วยปลูกฝังจิตสำนึก ฝึกการร่วมแก้ปัญหาระดับมหภาค คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- แรงงาน : เทคโนโลยียุค 5.0 ต้องการแรงงานที่มีทักษะต่างจากเดิม องค์กรควรปรับมุมมองในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการวิเคราะห์ว่า เราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไร เพื่อเสริมงานที่เราทำ นายจ้าง รวมถึง ภาครัฐ ควรเตรียมทักษะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์อย่างไร เพื่อให้แรงงานปัจจุบันและอนาคต สามารถทำงานกับเทคโนโลยีได้ มากกว่ากังวลว่า AI จะแย่งงานของเรา
"เราทุกคนในที่นี้ ควรตั้งคำถามร่วมกันว่าจะปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่มีภูมิปัญญาที่ยั่งยืนผ่าน life-long learning อย่างไร มากกว่ามุ่งตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมยังมีช่องว่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ผมขอย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5.0 ควรมีความรับผิดชอบและการดูแล หรือ Just Transition เราต้องช่วยกันดูแลและปรับทักษะแรงงาน เพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 5.0 โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานทักษะล่างถึงกลาง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 ของแรงงานไทยทั้งหมดที่มีราว 39.6 ล้านคน และต้องเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 5.0 ทั้งสิ้น เราต้องส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา และการมีงานทำสำหรับ กลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการอบรม กลุ่มที่อาจถูกมองข้าม เช่น ผู้พิการ สตรี คนสูงวัย แรงงานข้ามชาติ คนไร้สัญชาติ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และคนที่พ้นโทษ"
นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า "คน" ที่มีภูมิปัญญาที่ยั่งยืน หรือคนยุค SI นั้นจะช่วยให้สังคมไทยและสังคมโลกจัดการกับความท้าทายต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ได้ตามกำหนด โดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ไม่หยุดยั้งที่จะเดินหน้าเพื่อระดมกำลังสนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถของครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเหมาะสมต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5.0 โดยเน้นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สร้างคนที่อุดมไปด้วย "ภูมิปัญญาที่ยั่งยืน" สร้างพื้นที่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง