4 ไอเดียธุรกิจ สร้างโอกาสจาก ‘เทรนด์ท่องเที่ยว’
ททท. ประกาศผลักดัน "การท่องเที่ยวไทย" ด้วยแคมเปญ "ปีท่องเที่ยวไทย 2566" สำหรับตลาดในประเทศ และ Visit Thailand Year 2023 : Amazing New Chapters สำหรับตลาดต่างประเทศ จึงมี 4 ไอเดียธุรกิจ มาแนะนำผู้ประกอบการนำไปต่อยอดรับเทรนด์ท่องเที่ยวบูม
ปี 2566 เป็นปีที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศเปิดเกมรุกผลักดันการท่องเที่ยวไทยด้วยแคมเปญ "ปีท่องเที่ยวไทย 2566" สำหรับตลาดในประเทศ และ "Visit Thailand Year 2023 : Amazing New Chapters" สำหรับตลาดต่างประเทศ พร้อมเตรียมมุ่งสู่การเป็น High Value and Sustainable Tourism เน้นให้ความสำคัญกับการยกระดับห่วงโซ่อุปทานผ่าน Soft Power ทั้ง 5F ได้แก่ Food, Festival, Film, Fight และ Fashion ที่อาจกอบโกยรายได้หมุนเวียนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ SME หรือผู้ประกอบการรายใหม่ๆ หันมาลงเล่นในธุรกิจสินค้าและบริการในกลุ่ม 5F ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งวันนี้ Bangkok Bank SME มี 4 ไอเดียธุรกิจ มาแนะนำเพื่อนำไปต่อยอด พัฒนาสินค้าและบริการให้โดนใจนักท่องเที่ยวรับเทรนด์ท่องเที่ยวบูมในปีนี้
1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
อาหารไทย มีหลายเมนูที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักทั่วโลก นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเดินทางมาเยือนไทยของชาวต่างชาติ ไม่เว้นแม้แต่คนไทยด้วยกันเอง ที่ชอบแสวงหาร้านเด็ด ร้านดัง มาอัปภาพอวดกันจนติดเทรนด์บนโซเชียลมีเดียให้เห็นกันอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะอาหารประจำถิ่นที่หารับประทานได้ยาก ยิ่งดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
กลยุทธ์คว้าใจลูกค้าใน "ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม"
ด้วยความนิยมของ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผู้ประกอบการหลายคน เลือกทำเป็นอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงคู่แข่งที่มากเช่นกัน สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจไปรอด นอกจากความสะอาดและรสชาติอร่อย คือ "ต้องมีกลยุทธ์ที่ดี" หากใครยังคิดไม่ออกขอเสนอกลยุทธ์ "การตลาดแบบน่ารัก" หรือ Cute Marketing ซึ่งเป็นคำนิยามจากงานวิจัย HULIQ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วย Soft Power อีกรูปแบบหนึ่ง โดยใช้ความน่ารักเป็นจุดขาย ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ สีสันของตัวสินค้า หรือแพ็กเกจจิง เพื่อกระตุ้นภาพจำทางการตลาดของแบรนด์หรือสินค้าของเราได้ ภาพลักษณ์ของสินค้าที่ดูน่ารักจะช่วยเพิ่มโอกาสการแชร์ต่อ บอกต่อกันบนโลกโซเชียล จนสินค้าติดเทรนด์ได้ง่ายๆ
นอกจากความน่ารักแล้ว การออกแบบแพ็กเกจจิง ให้สวยงามแปลกตา พร้อมคุณสมบัติ รักษ์โลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งจุดขายให้แบรนด์ได้เช่นกัน อาทิ การใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติทดแทนพลาสติก อย่าง ภาชนะใบไม้ ภาชนะที่ทำจากเยื่อของพืช หรือภาชนะกาบหมาก เป็นต้น
2. เปลี่ยน "โอท็อป" เป็น "ท็อปแบรนด์"
ผลผลิตจากชุมชนใกล้ตัวสามารถพัฒนาเป็นแบรนด์ระดับท็อปได้เช่นกัน หากเข้าใจถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้ไม่ยาก เช่น การใช้กลยุทธ์ Storytelling หยิบยกเรื่องราวที่น่าสนใจ หรือเรื่องราว unseen ของวัตถุดิบ กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ มาเผยแพร่ให้ผู้คนได้รับรู้ ผ่านช่องทางการสื่อสารบนโซเชียลมีเดีย หรืออาศัยไอเดียความคิดสร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์ และแพ็กเกจจิงให้สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ในตัวเมื่อพบเห็น เมื่อเรามีสินค้าคุณภาพ พร้อม Story ที่ไม่เหมือนใครแล้ว การเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะยกระดับ สินค้าโอท็อป ให้เป็น ท็อปแบรนด์ ได้ เช่น หากสินค้าอยู่ในกลุ่มขนมขบเคี้ยว อย่าง ผลไม้อบแห้ง คุกกี้ผลไม้ ฯลฯ อาจนำไปฝากขายตามคาเฟที่ Mood & Tone ส่งเสริมกับสินค้านั้นๆ เพื่อเป็นการปูทางสร้างการรับรู้ และเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ ก่อนจะขยับขยายเข้าสู่โมเดิร์นเทรดในอนาคต
ขณะเดียวกันสิงสำคัญคือต้องไม่ลืม การสร้างตัวตนของแบรนด์ และหมั่นอัปเดตเรื่องราวสินค้าโดยใส่ Storytelling บนสื่อโซเชียลมีเดียควบคู่กันไปด้วยอย่างสม่ำเสมอ เช่น การสร้างเพจ สร้างคอนเทนต์ บน Facebook, Instagram และ TikTok ที่คอยแนะนำเรื่องเล่า พร้อมโพสต์ภาพสินค้าที่เกี่ยวข้อง มีความเป็นมาเป็นไปและประโยชน์จากเรื่องที่เล่าสู่แฟนเพจ ภาพถ่ายหรือโพสต์วิดีโอแบบ Real Time เพื่อตอกย้ำภาพจำให้แบรนด์ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่มีความคุ้นเคยกับผู้บริโภค เพื่อสร้างฐานลูกค้าประจำให้คอยติดตามอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
3. ธุรกิจจัดงานอิเวนต์ ในธีมชนบท
หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศและเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ประเทศไทยเองก็ได้รับการตอบรับจากกระแสการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้เช่นกัน แน่นอนว่าอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จาก การท่องเที่ยว บูม คือธุรกิจรับจัดงานอิเวนต์ ที่มีแนวโน้มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งธุรกิจอิเวนต์จะนำเสนอรูปแบบงานอย่างไรให้ถูกตาต้องใจลูกค้า? Bangkok Bank SME มีคำตอบ
Rustic Event เป็นสไตล์ชนบทของประเทศฝั่งตะวันตก มีกลิ่นอายของความอบอุ่น สบายๆ เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ เน้นเฟอร์นิเจอร์ไม้ หรือของตกแต่งที่ทำจากไม้ ลายไม้ ดอกไม้ ใบไม้ โดยส่วนใหญ่รูปแบบงานจะคุมธีมสีเอิร์ธโทน อาจจัดในคอนเซปต์ที่จำลองเอาโรงนา หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบท มาไว้กลางเมืองใหญ่ที่ผู้คนโหยหาธรรมชาติ หรือในเมืองรอง และสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามและดูกลมกลืนไปกับการจัดงานสไตล์ Rustic Event อาทิ การจัดงานบนชายหาดริมทะเล ทุ่งหญ้าบนที่ราบริมเขื่อน หรือท่ามกลางธรรมชาติของป่าเขา เป็นต้น ซึ่งธีม Rustic Event สามารถเข้ากับอีเวนท์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น งานเลี้ยงสังสรรค์ มินิคอนเสิร์ต งานแต่งงาน ไปจนถึงงานแฟร์ต่างๆ
SME ที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรับจัดงาน อย่าลืมใช้โอกาสนี้ สร้างรายได้ให้เติบโต เช่น อาจจะจัดเป็นแพ็กเกจแบบต่างๆ ให้ลูกค้าที่มองหาบริการรับจัดงานแบบสร้างสรรค์ ใส่ความครีเอต และครบจบในที่เดียวได้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ มีเพิ่มบริการเสริม เช่น ให้เช่าชุดในคอนเซปต์เดียวกับงาน, บริการจุดถ่ายภาพเช็กอิน หรือของแจกในงานตามธีมงาน เป็นกิมมิกที่สร้างความประทับใจให้ผู้ที่มาร่วมงานได้แบบไม่ซ้ำใคร
4. สตาร์ทอัพเทคโนโลยีสายท่องเที่ยว
ข้อมูลจาก ททท. เผยว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการหลายราย นิยมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และช่องทางออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาดถึงกว่า 80% ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา หรือการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาส ในการแจ้งเกิดสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีใจรักเรื่องเทคโนโลยีและ การท่องเที่ยว ให้นำทั้ง 2 สิ่งนี้มาปรับใช้ให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การให้บริการจองร้านอาหาร-ที่พัก-ยานพาหนะ บริการการขนส่งและนำเที่ยว บริการไกด์ส่วนตัว-ไกด์ท้องถิ่น บริการจองสิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการเสริมอื่นๆ อาทิ การจองคิวนวดสปา จองเรือคายัค จองเซิร์ฟบอร์ด จองจักรยาน จองคิวเวิร์กช็อปต่างๆ เป็นต้น
สิ่งสำคัญคือ นอกจากตามเทรนด์ให้ทันแล้ว เรื่องของการตั้งราคาที่เหมาะสม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การขายสินค้ามีความยั่งยืน และครองใจผู้บริโภคได้ยาวนาน ไม่ใช่แค่กระแสชั่ววูบหรือชั่วคราว แต่เป็นธุรกิจที่เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้ในระยะยาว แบบที่การตลาดแบบไหนก็สู้ไม่ได้