เจาะตลาดการค้า E-Commerce ในกลุ่มประเทศ CLMV เทรนด์ไหนมาแรง?
ชวนสำรวจตลาดการค้า E-Commerce ของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ว่ามีการพัฒนาและปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลกันอย่างไรบ้าง?
การสำรวจตลาดการค้า E-Commerce ในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา (Cambodia) ลาว (Laos) เมียนมาร์ (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) เป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำไปใช้ปรับกลยุทธ์ทางการค้า การลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของ SME ไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
กัมพูชา (Cambodia) ตลาด E-Commerce ที่น่าจับตามอง
การค้า E-Commerce ภายในกัมพูชา มีการพัฒนาระบบการชำระเงินมากขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์มีการปรับใช้ระบบ GPS ในการให้บริการมากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังพบปัญหาในแง่โครงสร้างพื้นฐาน และระบบ ICT (Information And Communication Technology) ปรกอบกับยังขาด กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ อาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่เหมาะสม รวมถึงปัญหาในการจัดเก็บและรวบรวมฐานทะเบียนที่อยู่ประชากร ที่ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการจัดส่งสินค้าบ่อยครั้ง
สำหรับแพลตฟอร์ม E-Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Glad Market ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด รองลงมาคือ Shop168 และ MALL855 ซึ่งพัฒนารูปแบบการให้บริการเป็นแอปพลิเคชัน โดยเปิดให้ดาวน์โหลดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายบนอุปกรณ์แอนดรอยด์
ลาว (Lao) E-Commerce ระยะตั้งต้น แต่โอกาสการเติบโตไม่ควรมองข้าม
เนื่องจากแพลตฟอร์ม E-Commerce ภายในประเทศลาวยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จำนวนผู้ใช้งานยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งประชากรลาวส่วนใหญ่ยังซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไม่เป็นทางการ รวมถึงยังมี Official shop account ของผู้ประกอบการไม่มาก ซึ่งต้องอาศัยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาด E-Commerce ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบฐานทะเบียนที่อยู่ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม
สำหรับแพลตฟอร์ม E-Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Plaosme ซึ่งสนับสนุนให้กลุ่ม SME มีพื้นที่ขายสินค้าทั้งในประเทศและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
เมียนมาร์ (Myanmar) ระบบ E-Commerce ที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก
ระบบการค้า E-Commerce ของประเทศเมียนมาร์ยังขาดความพร้อมในการพัฒนา ไม่ว่าจะมองในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ICT โลจิสติกส์ ระบบการชำระเงิน และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังขาด กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ อาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะ ประกอบกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุม ทำให้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรมีเพียง 33.4% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง ทว่าประชากรในเมียนมาร์ เริ่มมีความสนใจใช้งานระบบการค้า E-Commerce มากขึ้นจากเดิม และยังมีแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอีกด้วย
สำหรับแพลตฟอร์ม E-Commerce ยอดนิยม ได้แก่ BaganMart, OneKyat และ Shop.com.mm
เวียดนาม (Vietnam) ตลาด E-Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว
นับว่าเป็นประเทศที่ตลาด E-Commerce มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประชากรในประเทศนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ICT ระบบการขนส่ง ระบบการชำระเงิน และการส่งเสริมด้านตลาด E-Commerce จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้วย
สำหรับแพลตฟอร์ม E-Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Lazada ซึ่งเข้ามาลงทุนในตลาดเวียดนามตั้งแต่ปี 2555 นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ Thegioididong ที่สามารถรองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และการทำธุรกรรมผ่านธนาคารได้อีกด้วย
โอกาสการค้า E-Commerce ใน CLMV และอาเซียน
แม้ว่าตลาดการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV อาจดูเหมือนอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมากนัก แต่กระแสตลาด E-Commerce ในไทย พบว่า มีการเติบโตอย่างคึกคัก และแข่งขันกันค่อนข้างสูง ซึ่งแผ่อิทธิพลไปถึงกลุ่มผู้บริโภคในประเทศใกล้เคียงอย่าง CLMV โดยตรง เป็นโอกาสให้เทรนด์ความนิยมซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ โดยเฉพาะในประเทศที่น่าจับตาที่สุดอย่างเวียดนาม เนื่องจากจำนวนประชากรชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลัก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ
ข้อมูลจาก KPMG ซึ่งเป็น 1 ใน 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้ให้บริการด้านการตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ที่สุดของโลก เผยว่า ผู้ประกอบการในไทยสามารถเจาะเข้าถึงตลาดในกลุ่ม CLMV ได้ง่าย โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยจากปี 2021 ถึง 2022 อยู่ที่ 3.95% ด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกับหลายประเทศ รวมถึงท่าเรือสำคัญ อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอีกในปีต่อไป
อย่างไรก็ตาม การจะเจาะตลาด E-Commerce ในกลุ่ม CLMV ได้อย่างมีศักยภาพนั้น "เอกลักษณ์สินค้า" นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคยอมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์จากต่างประเทศ รวมถึงรูปแบบการบริการด้านการขนส่งข้ามเขตแดน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคค่อนข้างมากเช่นกัน ผู้ประกอบการ SME ที่หวังจะขยายธุรกิจออนไลน์ไปสู่ต่างแดน ควรคำนึงถึงการแข่งขันกับผู้ประกอบการ ขายของออนไลน์ ในประเทศนั้นๆ รวมถึงการแข่งขันด้านคุณภาพและราคาด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
- สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
- ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- Rethinking supply chains